ธปท. เปิดรายงานกนง. ระบุรัฐและเอกชนต้องร่วมมือประสานเชิงนโยบายเพื่อหนุนศก.ฟื้นตัว-แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 21, 2019 10:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2562 ซึ่งคณะกรรมการฯ มติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 1.50% ต่อปี ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี

คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เป็น 1.50% ต่อปี โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมายท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ เพื่อให้ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีเวลาปรับตัวเพื่อรับมือกับวัฏจักรเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลง ทั้งการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของภาคครัวเรือนและการปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐอาจช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเบิกจ่ายและความล่าช้าของการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

นอกจากนี้ กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้จะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง และช่วยลดความจำเป็นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขนาดที่มากขึ้นในอนาคต หากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวมากกว่าที่คาดตามสภาวะเศรษฐกิจโลก

ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอยู่แล้ว อาจไม่สามารถช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจช่วยชดเชยผลกระทบด้านลบที่มาจากปัจจัยด้านต่างประเทศได้จำกัด ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ข้อจำกัดที่สำคัญของการลงทุนภาคเอกชนในปัจจุบัน รวมทั้งยังมีความจำเป็นที่ต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต

นอกจากนี้ กรรมการฯ เห็นถึงความจำเป็นในการประสานเชิงนโยบายและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการฟื้นตัวและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

โดยคณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆโดยเฉพาะผลกระทบของสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ