"สุริยะ" มอบนโยบายสอน.ศึกษาแนวทางช่วยเหลือราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 62/63 หลังตลาดโลกปรับลง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 26, 2019 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ให้เร่งรัดการปรับแก้พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายเพียงอย่างเดียว เพื่อเพิ่มแหล่งรายได้เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจะสอดรับกับมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี 2561 - 2570 ตามนโยบายของรัฐบาล โดยใช้เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในอนาคตที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (New S-Curve) ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจของไทยอย่าง อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน และเกิดผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีความหลากหลาย ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) เคมีชีวภาพ (Biochemicals) และชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals)

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ สอน. ดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ โดยกำหนดเป้าหมายส่งเสริมรถตัดอ้อยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 4,000 คันในปี 2565 (ปัจจุบันมีรถตัดอ้อย 1,802 คัน) ผ่านโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562 - 2564 สนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลในการบริหารจัดการในไร่อ้อยให้มากขึ้น พร้อมทั้งมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการรถตัดอ้อยในประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพรถตัดอ้อยให้เทียบเท่ากับต่างประเทศ และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูกอ้อยของประเทศไทย พร้อมกับการพัฒนาศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้ง 4 ภาค (จังหวัดกาญจนบุรี กำแพงเพชร ชลบุรี และอุดรธานี) ให้เป็นศูนย์วิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ อาทิ การปรับปรุงพันธุ์อ้อย การจัดการผลผลิต การวิจัยดิน น้ำ โรคและแมลงศัตรูพืชในไร่อ้อย เป็นต้น

ด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการ กอน. กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับตัวลง ส่งผลถึงราคาอ้อย เนื่องจากราคาอ้อยสูงหรือต่ำนั้นขึ้นอยู่กับราคาน้ำตาลในตลาดโลก โดยทาง สอน. จะคำนวณและประกาศราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2562/2563 ภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจากการประมาณการราคาอ้อยจะไม่แตกต่างจากปีที่แล้วมากนัก โดยย้ำว่าดำเนินการดังกล่าวจะต้องไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)

นอกจากนี้ แนวการชำระหนี้เงินกู้ธนาคารกรุงไทย (KTB) ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่กู้เงินมาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิตปี 2558/2559 ซึ่งในปัจจุบันกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ได้นำเงินรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร นำไปชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยแล้ว จำนวน 12,184 ล้านบาท โดยจะได้หารือกับกระทรวงการคลังเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดิน เพื่อชำระหนี้เฉพาะในส่วนของเงินต้นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2566 จำนวน 2,085 ล้านบาท ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาจากงบกลางของรัฐบาลด้วย หากไม่สามารถขอรับการสนับสนุนได้ จะขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้จากธนาคารกรุงไทยออกไปก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ