นักเศรษฐศาสตร์ ชี้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในแก้ปมถูกทาง แต่รอความชัดเจนการกระตุ้นลงทุน-ส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 29, 2019 18:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า สถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังวิตกกังวลอยู่ในขณะนี้ คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน โดยมีโอกาสที่จะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจอันใกล้นี้หรือไม่ ซึ่งทางธนาคารฯ ประเมินว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะยังไม่ยุติลงในระยะ 3-6 เดือนนี้อย่างแน่นอน เพราะมองว่าจีนกำลังพยายามเพิ่มบทบาทของประเทศตัวเองในเวทีโลก นักธุรกิจรายใหญ่ของจีนต่างเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การที่ค่าเงินหยวนจะเป็นสกุลเงินที่สำคัญของโลก ประกอบกับนโยบาย One Belt One Road ของจีนที่มุ่งจะขยายอิทธิพลออกไปถึงสหภาพยุโรป ขณะที่ผู้นำสหรัฐฯ เองใช้นโยบายที่จะลดทอนความพยายามของจีนที่จะเพิ่มอิทธิพลทางการค้าโลก ดังนั้นธนาคารฯ จึงมองว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะยังคงยืดเยื้อต่อไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี

"ธนาคารฯ คงยังไม่บอกว่าตอนนี้เราได้เดินเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ เพราะมันยัง 50:50 แต่จะยังเห็นสงครามการค้าต่อไปอีก 1-2 ปี ซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจอาจจะเกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า แต่เรามองว่าโอกาสที่จะเกิดมันยัง 50:50" นายทิม กล่าวในงานสัมมนา Battle Strategy แผนรบ สยบวิกฤต EPISODE I : DO OR DIE ไม่ทำก็ตาย"

พร้อมระบุว่า กันชนสำหรับประเทศไทยที่จะนำมาใช้รับมือกับผลกระทบจากสงครามการค้านั้น จากที่ได้ฟังเสียงของนักลงทุนต่างชาติ ต่างเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลทำออกมาเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะการที่ไทยไม่สามารถควบคุมสงครามการค้าซึ่งเป็นปัจจัยจากภายนอกประเทศได้ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่พอจะทำได้ คือการสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้เติบโตเพื่อช่วยเป็นกันชนในการรับมือกับสงครามการค้า

แต่ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการเห็นมากขึ้นจากรัฐบาล คือ นโยบายที่ชัดเจนในการดูแลและแก้ปัญหาภาคการส่งออก รวมทั้งการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนให้มากขึ้นจากประโยชน์ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เพราะแม้ในช่วง 2-3 ปีนี้จะเห็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐมากขึ้น แต่การลงทุนของภาครัฐยังมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ ดังนั้นการเดินหน้าลงทุนของภาคเอกชนจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

"เรายังไม่เห็นความมั่นใจของภาคเอกชนที่จะใช้โอกาสจากดอกเบี้ยต่ำนี้เพิ่มการลงทุนให้มากขึ้น นักลงทุนต่างชาติเห็นด้วยกับนโยบายการกระตุ้นบริโภคในประเทศ แต่ยังไม่เห็นเรื่องการกระตุ้นส่งออก และการลงทุน ดังนั้นถ้าจะให้ดี ต้องทำ 2 สิ่งนี้เพิ่มมากขึ้น" นายทิม กล่าว

นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวถึงทิศทางค่าเงินบาทว่า เงินบาทจะยังมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 30.50 บาท/ดอลลาร์ และ ณ สิ้นปี เงินบาทจะยังแข็งค่ากว่าระดับ 31.00 บาท/ดอลลาร์อย่างแน่นอน สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากประเทศไทยยังมีความน่าสนใจในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ เพราะท่ามกลางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคที่กำลังประสบปัญหา แต่ประเทศไทยยังมีพื้นฐานภายในที่แข็งแกร่ง ภาคการท่องเที่ยวยังเติบโตได้ดีและสามารถช่วยทดแทนการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าได้

"เมื่อโลกมีปัญหา แต่ประเทศไทยกลับมีความน่าสนใจ จึงทำให้มีเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตร เราคาดว่าทิศทางของเงินบาทจะยังแข็งค่าต่อ มาตรการต่างๆ ที่ธปท.ทำนั้น ยังไม่เห็นว่าจะทำให้เงินบาทกลับไปอ่อนค่าได้ เพราะฉะนั้นผู้ส่งออกคงต้องเจอกับภาวะบาทแข็งค่าไปจนถึงสิ้นปีนี้" นายทิม กล่าว

พร้อมมองว่า การที่เศรษฐกิจของประเทศไทยต้องอยู่ท่ามกลางปัจจัยต่างประเทศที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ดังนั้นเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยในส่วนของภาครัฐจะต้องดึงดูดนักลงทุนให้ขยายการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยให้มากขึ้น เดินหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สร้างเสถียรภาพการเมืองให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจที่จะเข้ามาทำธุรกิจ ในขณะที่ภาคเอกชน จะต้องยกระดับการผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าเพิ่ม ส่วนภาคธนาคารพาณิชย์ จะต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจ และช่วยให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้

ด้านนายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวในหัวข้อ "Transformative INVESTING : การปรับเปลี่ยนธุรกิจการลงทุนเข้าสู่ยุคดิจิทัล" โดยระบุว่า ในช่วงที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าไปมาก นักลงทุนควรจะต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์มากที่สุด และใช้ให้เป็นมากกว่าที่จะไปกลัว

"นักลงทุนจะต้องรู้เขารู้เรา รู้ว่าเทคโนโลยีทำอะไรได้บ้าง รู้ว่าตัวเองจะใช้ประโยชน์เขาอย่างไร และอย่าไปรบในสนามที่คิดว่าไม่ชนะ การลงทุนในวันนี้ มีพื้นที่หนึ่งที่เรียกว่าพื้นที่สีแดง อันตราย ถ้าจะเข้าไปต่อสู้ต้องเตรียมอาวุธให้ครบ" นายสุกิจกล่าว

พร้อมระบุว่า ในปัจจุบันการซื้อขายหุ้นผ่าน AI มีมากถึง 75% ของปริมาณการซื้อขายทั่วโลก แต่ในส่วนของไทยเองยังมีอยู่น้อย แต่ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งในโลกที่มี ALGORITHM TRADING มาช่วยในการตัดสินใจลงทุน จะเปลี่ยนแปลงภาพการลงทุนในแบบเดิมๆ ไป คือ สามารถส่งคำสั่งซื้อได้รวดเร็วขึ้น สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของข่าวสารเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ ซึ่งจะเหมาะกับการลงทุนแบบเก็งกำไรภายในหนึ่งวัน เป็นการหวังกำไรน้อย แต่เน้นวอลุ่ม ซึ่งกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ นักเก็งกำไร

"นี่คือพื้นที่สีแดงที่พวก ALGORITHM หรือโปรแกรมเทรดดิ้งอยู่ ถ้าเราจะเข้าไปอยู่ตรงนี้ จะเข้าไปสู้ ต้องถามตัวเองว่ามี 3 สิ่งนี้ครบหรือเปล่า เราเร็วไหม เราอ่านได้ทันไหม เรามองได้ออกไหม ผลกระทบโดยตรงที่เทคโนโลยีเข้ามา คือ ถ้าใครเป็นนักเก็งกำไร กระทบแน่นอน เพราะคุณกำลังต่อสู้กับหุ่นยนต์ จะ BEAT เขาได้ไหม คำตอบคือ ไม่มี" นายสุกิจกล่าว

ดังนั้น ทางแก้หรือทางรอดของการลงทุนในหุ้นในยุคที่มีหุ่นยนต์หรือโปรแกรมเทรดดิ้งเข้ามา มีวิธีเดียว คือ ต้อง Buy และ Hold Stock ในเวลาที่ยาวขึ้น

นายสุกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกอยู่ในภาวะ Late Cycle ซึ่งเราไม่ควรกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจได้ผ่านจุดเติบโตที่ดีที่สุดไปแล้ว เมื่อเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วเกิดความอ่อนแอจึงทำให้คนกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น แต่โดยส่วนตัวแล้ว เชื่อว่าจะไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงดังเช่นในปี 1997 และ 2008 อย่างแน่นอน

"ถ้าเรากลัว มันจะเกิด เพราะ recession มันยังไม่เกิด แต่ถ้าวันนี้เราทำให้ตัวเองเดินเข้าสู่ recession ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว วันนี้รัฐบาลรู้ล่วงหน้าว่าอาจจะเกิด recession ในอีก 20 เดือนข้างหน้า จึงได้พยายามลดดอกเบี้ย พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงน่าจะทำให้การเกิด recession ไม่เหมือนในปี 1997 หรือปี 2008 ซึ่งเกิดโดยที่ประมาท แต่วันนี้โลกเราพัฒนาขึ้น เราอ่านข้อมูลได้เร็วขึ้น และเข้าใจมากขึ้น มีคนช่วยมองมากขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย หรือถ้าเกิด ก็เบา แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่คือ เศรษฐกิจเติบโตต่ำ และดอกเบี้ยต่ำไปอีกระยะ" นายสุกิจ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ