"ชิปปสไมล์ เซอร์วิส"วางเป้าขึ้นเป็นศูนย์รวมบริการขนส่งครบวงจรรับตลาด E-Commerce โต ขยายสาขาปีนี้เพิ่มเป็น 1 พันสาขา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 5, 2019 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสฐีรณัฐ ลาภไกวัล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิปปสไมล์ เซอร์วิส จำกัด (SHIPSMILE SERVICES) ผู้ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ร้านสารพัดงานบริการ รวบรวมขนส่งชั้นนำทั่วประเทศ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าเป็นศูนย์รวมบริการขนส่งชั้นนำของไทยแบบครบวงจร ภายใต้การดำเนินงานในรูปแบบ แพลตฟอร์มธุรกิจออฟไลน์แบบครบวงจร หรือระบบโปรแกรมหน้าร้านเสมือนร้านสารพัดงานบริการ เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจ และสอดคล้องกับการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซ ในยุค 4.0 โดยมุ่งเน้นเป็นร้านสารพัดบริการ รวบรวมขนส่งชั้นนำที่อยู่ใจกลางชุมชน และมีสาขาคลอบคลุมมากที่สุดในประเทศ

ทั้งนี้แผนการดำเนินงานในปี 62 บริษัทฯ ตั้งเป้ามีสาขาให้บริการเพิ่มเป็น 1,000 สาขา โดยจะมุ่งเน้นสาขาในรูปแบบของ Drop Off เป็นหลัก จากปัจจุบันมีสาขาทั้งในรูปแบบ Drop Off และ Full Set อยู่กว่า 600 สาขา และตั้งเป้ามียอดรับส่งพัสดุ จำนวน 1 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งจะส่งผลทำให้บริษัทฯ มีรายได้จากการขายแฟรนไชส์ร้านสารพัดบริการ ภายใต้แบรนด์ Shipsmile Services (ชิปป์สไมล์ เซอร์วิส) สิ้นปีนี้เติบโตแตะ 200 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีรายได้ราว 80 ล้านบาท รวมถึงรับรู้กำไรจากการรับส่งพัสดุจากการร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ได้จับมือกับพันธมิตรผู้ให้บริการขนส่งด่วนชั้นนำของประเทศ ทั้ง ไปรษณีย์ไทย, แฟลช เอ็กซ์เพลส, อัลฟ่า และดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ อยู่ระหว่างมองหาพันธมิตรผู้ให้บริการขนส่งเพิ่มเติมอีก โดยมีความสนใจผู้ให้บริการขนส่งพัสุดที่อยู่ในต่างจังหวัด และประเทศเพื่อนบ้าน คาดว่าในปี 63 จะสามารถเห็นความชัดเจนได้ โดยในปี 63 บริษัทฯ มีแผนขยายสาขาให้ครอบคลุมไปในทุกตำบลเล็กๆ ตลอดจนอำเภอ และเพิ่มบริการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศด้วย รวมถึงจะเพิ่มงานบริการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากงานขนส่ง เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดโดยรวม และสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ และผู้ประกอบการในระยะยาว

"ในปีนี้เราจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างแบรนด์ให้เกิดการรับรู้แก่ทุกภาคส่วน จากการขยายสาขาแฟรนไชส์ฯ ที่ลงทุนน้อย คืนทุนได้ไว และมีจุดเด่น เช่น การบริการรับส่งพัสดุในราคาที่เท่ากับพันธมิตรรายอื่นๆ พร้อมมีบริการเก็บเงินปลายทาง (COD) และการบริการพื้นฐานทั่วไป เช่น การชำระเงินออนลไน์ต่างๆ, การทำเรื่องพ.ร.บ., การต่อภาษีรถ เป็นต้น ส่วนปีหน้าจะเน้นเรื่องของการบริการอื่นๆ ที่จะเข้ามาเพิ่มเติม"

สำหรับการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ประเมินว่ามูลค่าการซื้อขายออนไลน์ตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 65 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย น่าจะเติบโตขึ้นเฉลี่ย 22% จากปี 61 อยู่ที่ 3.05 ล้านล้านบาท และมีสัดส่วนการซื้อขายออนไลน์ที่สูงขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีเพียง 3% ของยอดค้าปลีกทั้งระบบ แต่เชื่อได้ว่าตลาดนี้จะมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในยุค 4. 0 ที่เปลี่ยนไปจากอดีตโดยสิ้นเชิง

พร้อมกันนี้ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศอันดับหนึ่งในทวีปเอเชียที่มีตัวเลขการซื้อขายออนไลน์ประมาณ 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าไทยมีการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ที่สูงมีพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์หน้าใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งมีการพัฒนารูปแบบแพลตฟอร์มการขายสินค้าใหม่ๆ ที่สามารถสร้างกำไรในตลาดออนไลน์ได้อย่างมหาศาล ซึ่งเมื่อธุรกิจขายของออนไลน์เติบโตการขนส่งสินค้าจำต้องปรับตัวให้เติบโตตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เนื่องจากในแต่ละวันจะมีจำนวนพัสดุที่ลูกค้าทำการจัดส่งเป็นจำนวนมากส่งให้ตลาดอยู่ในสภาวะ Supply น้อยกว่า Demand ก็คือสินค้าในตลาดออนไลน์มากกว่าขนส่งที่ให้บริการ


แท็ก e service   Commerce  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ