พาณิชย์ชี้เหตุพื้นที่ผลิตน้ำมันในซาอุฯถูกโจมตี ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันตลาดโลกแค่ระยะสั้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 16, 2019 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์โจมตีโรงงานสองแห่งในพื้นที่ผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ส่งผลกระทบให้การผลิตน้ำมันและก๊าซลดลงครึ่งหนึ่งของปริมาณการผลิต หรือประมาณ 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 5% ของอุปทานน้ำมันทั่วโลก โดยล่าสุดเช้านี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับเพิ่มสูงขึ้น 10 เหรียญสหรัฐ มาที่ 72 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลนั้น

จากสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถคาดการณ์ได้ 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 สถานการณ์ไม่ยืดเยื้อ โดย (1) ซาอุดีอาระเบียสามารถแก้ไขสถานการณ์เป็นปกติ และกลับมาผลิตในระดับเดิมได้อย่างรวดเร็ว (2) ไม่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีกครั้ง ทั้งในประเทศซาอุดีอาระเบียหรือประเทศผู้ผลิตน้ำมันสำคัญรายอื่นๆ (3) สถานการณ์ความขัดแย้งไม่ขยายวงอันนำมาสู่ผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และ (4) ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายอื่นๆ สามารถส่งออกน้ำมันชดเชยการลดลงของซาอุดีอาระเบียได้

ภายใต้ข้อสมมติฐานนี้ คาดว่าราคาน้ำมันในเดือนกันยายนจะปรับสูงขึ้นเป็น 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก่อนที่จะลดลงเข้าสู่ปกติในช่วงที่เหลือของปีในระดับ 62.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปี (กันยายน-ธันวาคม 2562) เฉลี่ยอยู่ที่ 63.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ยังคงต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 69.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือลดลง 9%

กรณีที่ 2 สถานการณ์ยืดเยื้อ ทำให้ราคาน้ำมันในช่วงที่เหลืออยู่ที่ 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากอาจจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่คาดไม่ถึงส่งผลให้ราคาน้ำมันทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง ในกรณีนี้จะทำให้น้ำมันในช่วงที่เหลือของปี (กันยายน-ธันวาคม 2562) เฉลี่ยอยู่ที่ 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ยังคงต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 69.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือลดลง 6.3%

"มีความเป็นไปได้สูงที่สถานการณ์จะไม่ยืดเยื้อ (กรณีที่ 1) ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าคาดการณ์เดิมเพียงเล็กน้อยประมาณ 0.01% และทั้งปียังอยู่ที่ประมาณ 0.7-1.3%" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

อย่างไรก็ตาม พบว่าผลของน้ำมันไม่ว่ากรณีที่ 1 หรือ 2 จะส่งผลต่อเงินเฟ้อน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลของค่าเงิน โดย สนค. คาดว่าการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี จะทำให้เงินเฟ้อลดลง 0.17% และทำให้เงินเฟ้อทั้งปีต่ำกว่า 1% ขณะที่การส่งออกจะปรับตัวดีกว่าคาดการณ์เดิมประมาณ 0.1% ทั้งนี้ สนค. ยังคงเป้าหมายการส่งออกในครึ่งปีหลังที่ 3% ตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ