ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 30.52 ตลาดรอดูตัวเลขส่งออกของไทยพรุ่งนี้-จับตา Brexit-สงครามการค้า-แนวโน้มราคาน้ำมัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 19, 2019 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ที่ระดับ 30.52 บาท/ดอลลาร์ จากตอนเช้าที่ เปิดตลาดที่ระดับ 30.56 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเคลื่อนไหวระหว่าง 30.52-30.58 บาท/ดอลลาร์

"ช่วงเช้ามีแรงซื้อดอลลาร์ แต่ช่วงบ่ายมีแรงเทขายดอลลาร์ออกมาหลังนักลงทุนมองโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยในอนาคตมี ความเป็นไปได้ แต่แรงเทขายดอลลาร์ยังค่อนข้างจำกัด ขณะที่บ้านเราก็มีเงินทุนไหลออกย่อยข่าวผลประชุมเฟด" นักบริหารเงินระบุ

อย่างไรก็ตาม พรุ่งนี้จะมีการประกาศตัวเลขส่งออก-นำเข้าของไทย ซึ่งน่าจะมีผลต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางอัตรา ดอกเบี้ยของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 ก.ย.นี้

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามประเด็นอังกฤษหลังมีข่าวว่าจะเดินหน้าแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ปัจจัยน้ำมัน และ การค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน

เบื้องต้นประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวันพรุ่งนี้ไว้ระหว่าง 30.45 - 30.60 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 108.04 เยน/ดอลลาร์ จากตอนเช้าที่อยู่ที่ 108.19 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1066 ดอลลาร์/ยูโร จากตอนเช้าที่อยู่ที่ 1.1027 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,640.66 จุด ลดลง 13.48 จุด, -0.81% มูลค่าการซื้อขาย 57,286.44 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 400.28 ลบ.(SET+MAI)
  • ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติปรับลดอัตรา
ดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75%-2.00% เป็นเรื่องที่ตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว และตลาดยังมองว่าปีนี้เฟดมีโอกาสจะปรับ
ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องนำไปประเมินว่าจะมีผลกระทบกับ
การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านของเสถียรภาพและการเติบโตอย่างไร
  • นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่นั้นอยู่ที่ดุลพินิจของธนาคารแห่ง
ประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องพิจารณาให้ดี เรื่องอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่กลไกที่สำคัญมาก แต่สิ่งสำคัญที่ไทยจะต้องเร่งดำเนินการในช่วงที่
เศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดีในขณะนี้ คือ การสร้างความเชื่อมั่นภายในประเทศ สร้างความแข็งแกร่งจากภายใน
  • รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามผลการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing
Business) โดยภาพรวมเชื่อว่าไทยจะได้รับการพิจารณาปรับอันดับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน จากปีก่อนที่อยู่ในอันดับที่ 27 โดยไทยยังเป็นรอง
ประเทศในกลุ่มอาเซียนเพียง 2 ประเทศ คือ ประเทศสิงคโปร์ ที่อยู่อันดับ 1 ของโลก และประเทศมาเลเซียที่อยู่ในอันดับ 10 กว่า
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ใน
การประชุมครั้งที่ 6 ของปี 2562 วันที่ 25 ก.ย.62 โดยเชื่อว่า กนง.คงจะประเมินทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า คำนึงถึงปัจจัยหนุน
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และพัฒนาการปัจจัยเสี่ยงอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ หากปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้
ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากคาดการณ์ กนง. คงมีการทบทวนความเหมาะสมของการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป
  • ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2.25% ในวันนี้ หลังจาก
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% ในการประชุมเมื่อวานนี้
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษในการประชุมวันนี้ แม้เผชิญแรงกดดันให้ดำเนิน
นโยบายตามธนาคารกลางของประเทศอื่นๆที่พากันผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจ
โลกที่ไม่แน่นอน
  • ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นกำลังปรับตัวขึ้นสู่เป้าหมาย
ของ BOJ ที่ระดับ 2% อย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • รัฐมนตรีอังกฤษฝ่ายกิจการการแยกตัวออกจากยุโรป (Brexit) เปิดเผยว่า อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป (EU) ในวัน
ที่ 31 ต.ค. ไม่ว่าจะสามารถทำข้อตกลงกับ EU ได้หรือไม่ก็ตาม
  • ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้ออกมาเตือนว่า อังกฤษกำลังมุ่งหน้าไปสู่เส้นทางของการแยกตัวออกจากสหภาพ
ยุโรป (EU) โดยไม่มีการทำข้อตกลง (no-deal Brexit) ขณะที่เหลือเวลาอีกเพียง 6 สัปดาห์ก่อนที่อังกฤษจะแยกตัวออกจาก EU
  • สภาการค้าต่างประเทศแห่งชาติ (NFTC) ของสหรัฐประกาศจัดตั้งคณะปฏิรูปภาษีซึ่งจะทำงานร่วมกับสมาชิกสภานิติบัญญัติ
เพื่อรับประกันว่าจะมีการกำกับดูแลด้านภาษีจากทางรัฐสภามากขึ้น และจะทบทวนการใช้อำนาจด้านภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ