พาณิชย์ เตรียมฟื้นเจรจา FTA ไทย-อียู เดินสายรับฟังความเห็นในภูมิภาคต.ค.-พ.ย. ก่อนสรุปผลเสนอรัฐบาลตัดสินใจปลายปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 8, 2019 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมเดินสายจัดสัมมนารับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียในภูมิภาคต่างๆ ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนปีนี้ เพื่อหาข้อสรุปฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู หลังจากนั้นจะรวบรวมผลการศึกษาและผลรับฟังความเห็นเสนอระดับนโยบายเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมปีนี้ และน่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สหภาพยุโรปแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยุโรปชุดใหม่ที่จะตัดสินใจหรือมีนโยบายเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับไทย

สำหรับการสัมมนารับฟังความเห็นในส่วนภูมิภาคได้กำหนดแผนการจัดหารือ มีดังนี้ (1) ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ในวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมไบรท์ตัน แกรนด์ พัทยา (2) ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมแคนทารี ฮิลล์ เชียงใหม่ (3) ภาคใต้ จังหวัดสงขลา ในวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมที อาร์ ร็อค ฮิลล์ และ (4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจังหวัดขอนแก่น ในวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์

โดยการจัดหารือแต่ละครั้ง กรมฯ ได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาครัฐ ช่วยนำเสนอข้อมูล และบทวิเคราะห์เชิงสถิติเกี่ยวกับเอฟทีเอไทย-อียู ทั้งประเด็นการเปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน และประเด็นการค้าใหม่ๆ เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ และประเด็นสุขภาพและสาธารณสุข เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เข้าใจแง่มุมของเอฟทีเอมากยิ่งขึ้น

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการจัดหารือรับฟังความเห็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ที่กรุงเทพฯ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการให้มีการฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เพื่อเป็นโอกาสในการขยายตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าของไทย เช่น สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป สิ่งทอ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น โดยมีข้อกังวลว่าหากไทยไม่ทำเอฟทีเอกับอียู ไทยจะเสียโอกาสทางการค้าและโอกาสในการเป็นฐานการผลิต การกระจายสินค้า และการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปให้ประเทศอื่นๆ ที่มีเอฟทีเอกับอียูแล้ว ขณะที่มีผู้ประกอบการบางส่วน และภาคประชาสังคม ตั้งข้อสังเกตและมีข้อกังวลในส่วนที่ไทยอาจจะต้องเปิดตลาดหรือปรับกฎระเบียบที่จะกระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระบบสุขภาพ ทรัพย์สินทางปัญญา และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งฝ่ายไทยจะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังทั้งในส่วนการเจรจาเพื่อขอข้อยกเว้น และความยืดหยุ่น ตลอดจนมีกลไกเพื่อรองรับการปรับตัว เช่น การจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งประเด็นการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ กรมฯ อยู่ระหว่างหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอระดับนโยบายว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ต้องการให้การขอใช้ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และสามารถช่วยพัฒนาศักยภาพของภาคเกษตร ผลิต และบริการของผู้ขอได้จริงในระยะยาว

ทั้งนี้ อียูถือเป็นตลาดใหญ่ ครอบคลุม 28 ประเทศในทวีปยุโรป มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 4 ของไทย โดยในปี 2561 การค้าไทย-อียู มีมูลค่า 47,322 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 9.4% ของการค้าไทยกับโลก ขยายตัว 6.5% จากปี 2560 โดยไทยส่งออกไปอียู 25,041 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.1% และนำเข้าจากอียู 22,281 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.1% โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอียู เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น สำหรับการลงทุนไทยในอียูมีแนวโน้มสูงขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2561 คิดเป็น 11,339 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการลงทุนจากอียูเข้ามาในไทย ซึ่งอยู่ที่ 7,065 ล้านเหรียญสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ