(เพิ่มเติม) SCB EIC หั่น GDP ปี 62 เหลือโต 2.8% จากเดิม 3% พร้อมคาดปี 63 โต 2.8% ยังเผชิญความเสี่ยงปัจจัยใน-นอก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 8, 2019 13:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 62 ลงเหลือ 2.8% จากเดิม 3% เนื่องจากการส่งออกหดตัวแรง ขณะที่การใช้จ่ายเอกชนชะลอตัว และการลงทุนภาครัฐเกิดความล่าช้า พร้อมทั้งประเมินว่า GDP ปีหน้าจะเติบโตได้ราว 2.8% โดยยังเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอก ส่งผลกระทบทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้ช้า และการลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัว

SCB EIC ยังคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ 1.25% ในรอบการประชุมเดือน พ.ย.นี้ จากนั้นจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตลอดทั้งปี 63 ขณะที่คาดว่าค่าเงินบาทจะทรงตัวในทิศทางแข็งค่าที่ 30-31 บาท/ดอลาร์สหรัฐในปี 63 ใกล้เคียงปีนี้ เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังเกินดุลสูงถึง 6% ของ GDP

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด SCB EIC กล่าวว่า ได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 62 ลงจากปัจจัยสงครามการค้าทื่ยืดเยื้อเริ่มส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นในหลายประเทศ ทำให้เกิดการชะลอตัวขึ้นกับการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งยังถูกปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้การส่งออกชะลอตัวตาม รวมไปถึงการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาถึงปัจจุบัน 7.7% กระทบต่อการส่งออกของไทยด้วย โดยที่ได้ปรับลดประมาณการตัวเลขการส่งออกไทยในปีนี้มากขึ้นเป็น -2.5% จากเดิมที่ 2% หลังจากที่ตัวเลขการส่งออกเดือนส.ค.ที่ผ่านมาหดตัว -9.8% ส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ภาคท่องเที่ยว แม้จะคงประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 40.1 ล้านคน แต่มีการปรับลดประมาณการค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวตามการแข็งค่าของเงินบาท ด้านการใช้จ่ายของครัวเรือนของประเทศ ยังมีสัญญาณการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะยอดขายที่อยู่อาศัยในภาคอสังหาริมทรัพย์และยอดขายรถยนต์ที่หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง สะท้อนจากการจ้างงานที่หดตัว โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม รายได้ภาคการท่องเที่ยวและภาคเกษตรที่ซบเซา และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดต่ำลง รวมทั้งความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินจากสัญญาณคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง และมาตรการกำกับดูแลการให้สินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เริ่มจากมาตรการชิม ช้อป ใช้ ประเมินว่าจะช่วยพยุงการใช้จ่ายและ GDP ในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้เล็กน้อยราว 0.03% แต่อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าของการผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 63 จะกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนภาครัฐในส่วนของโครงการใหม่ และทำให้การผลักดันโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐล่าช้ามากขึ้น

นายยรรยง ยังคาดว่า GDP ในปี 63 จะขยายตัวได้ 2.8% ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวต่อเนื่อง และภาระหนี้ครัวเรือนที่จะกดดันกำลังซื้อในประเทศ โดยมีความเสี่ยงจากผลกระทบของสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ และความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง โดยประเมินการฟื้นตัวของการส่งออกไทยจะเป็นไปอย่างช้าๆ โดยคาดว่าการส่งออกไทยขยายตัวได้ 0.2% ในปี 63

ส่วนการบริโภคและการลงทุนในประเทศ คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อยจากปี 62 ตามอุปสงค์ของการส่งออกที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ประกอบกับการก่อสร้างภาคเอกชนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางชะลอลงเช่นกันจากหลายปัจจัยกดดัน ได้แก่ ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน โดยที่ต้องหวังการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการบริโภคของภาครัฐ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม จะมีบทบาทมากขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 63

ด้านนโยบายการเงินของไทยนั้น SCB EIC ยังคงมีมุมมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในไตรมาสที่ 4/62 ลงมาสู่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ และจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวตลอดทั้งปี 63 แม้ในช่วงเดือนส.ค.ที่ผ่านมา กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปแล้ว 1 ครั้ง รวมทั้งล่าสุด ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และปี 63 แต่ในระยะถัดไป ยังมีความเสี่ยงที่มาจากทั้งในและนอกประเทศที่มีสูงขึ้น ทำให้ กนง.มีโอกาสปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.3% ลงได้อีก

ประกอบกับแนวโน้มเงินเฟ้อที่จะยังอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายทั้งในปีนี้และปีหน้า ทำให้ กนง.จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งในไตรมาสที่ 4/62 และจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.25% ตลอดทั้งปี 63 เพื่อพยุงกำลังซื้อในประเทศผ่านช่องทางการลดต้นทุนทางการเงิน แม้ว่าอาจจะไม่กระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมใหม่ได้มากนัก ภายใต้ความไม่แน่นอนที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่จะมีส่วนลดภาระการชำระหนี้ให้กับครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ที่มีหนี้อยู่แล้วเป็นสำคัญ

ส่วนการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องยาวนาน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้มาตรการ macro prudential และ micro prudential เป็นเครื่องมือหลักในการจัดการความเสี่ยง

สำหรับทิศทางของค่าเงินบาท คาดว่าจะยังได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เกินดุลสูง โดยที่ในปี 62 ประเมินว่าจะเกินดุล 6.4% และ 6% ในปี 63 ประกอบกับแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในภูมิภาคที่อาจทำได้มากกว่าของไทย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ตลอดจนเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เข้ามาเป็นช่วงๆ จากการที่เงินบาทถูกมองว่าเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยของภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 30-31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปี 63

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมาจากทั้งภายในและภายนอก โดยสงครามการค้ายังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้อีก และอาจทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบมากกว่าที่คาด ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 63 อาจชะลอลงมากกว่าคาด

นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ต้องจับตาคือความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น Brexit การประท้วงในฮ่องกง และความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอเพิ่มเติม และอาจเกิดความผันผวนในตลาดเงินโลกได้

ขณะที่ความเสี่ยงภายในประเทศ มาจากความเปราะบางทางการเงินที่มีมากขึ้น ทั้งในส่วนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs สะท้อนจากระดับหนี้เสีย (NPL) ทั้งในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภค และสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่โน้มสูงขึ้นจากผลกระทบสะสมของภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น รายได้ที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้ยอดขายของธุรกิจและรายได้ของครัวเรือนมีแนวโน้มกระจุกตัวมากขึ้น และความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณ รวมถึงประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายของภาครัฐก็ยังเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงภายในสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ