รายงาน กนง.มองศก.ไทยโตต่ำกว่าคาดจากผลกระทบส่งออก พร้อมใช้เครื่องมือที่เหมาะสมดำเนินนโยบายการเงินระยะต่อไป

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 9, 2019 10:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 25 ก.ย.62 ซึ่งคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมจากการส่งออกที่ลดลง ซึ่งส่งผลไปสู่อุปสงค์ในประเทศ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.8% ในปี 2562 และเพิ่มขึ้นเป็น 3.3% ในปี 2563 ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้ที่ 3.3% และ 3.7% ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2562 จากสาเหตุ 1) ราคาพลังงานซึ่งลดลงกว่าที่ประเมินไว้ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นในระยะสั้นจากการโจมตีโรงงานแปรรูปน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย และ 2) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยทั้งปี 2562 มีแนวโน้มลดลงตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานกลุ่มอาหาร (food-in-core) ค่าเช่าบ้าน และของใช้ส่วนตัว ส่วนหนึ่งสะท้อนแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ลดลง

อย่างไรก็ดี ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

"คณะกรรมการฯ เห็นว่าพัฒนาการโดยรวมของแนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน และเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายหลังจากที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนสิงหาคมจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมายในปี 2563 คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมครั้งนี้" รายงาน กนง.ระบุ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายถึงปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงิน ดังนี้

1. เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม และต่ำกว่าระดับศักยภาพจากการส่งออกสินค้า ซึ่งหดตัวตามเศรษฐกิจคู่ค้า และปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมทั้งวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด

สำหรับอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามภาคการผลิตและการจ้างงานที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว และภัยธรรมชาติ ประกอบกับยังมีแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แม้จะได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มลดลงสอดคล้องกับการส่งออก แต่การย้ายฐานการผลิตมายังไทย และโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นแรงสนับสนุนในระยะต่อไป ด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งอาจกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป และประเมินว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น ในภาวะที่เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอลงและการแข่งขันระหว่างประเทศสูงขึ้น

2. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2562 จากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลง อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะมีแนวโน้มทยอยปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2563 ตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในระยะต่อไป

คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อยังมีความไม่แน่นอนจากความผันผวนของราคาน้ำมัน รวมถึงความผันผวนของสภาพอากาศ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นช้ากว่าในอดีต

3. ความเสี่ยงในระบบการเงินที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต ได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วนด้วยมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไป อาทิ ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับดีขึ้น หลังหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปรับปรุงใหม่ (loan-to-value: LTV) มีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) มีแนวโน้มที่จะระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอลง

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงในจุดอื่น ๆ ยังไม่ปรับดีขึ้นและเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม อาทิ (1) การก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ครัวเรือนสะสมความเปราะบางมากขึ้น รวมทั้งยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ที่มีแนวโน้มด้อยลงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ (2) พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) (3) ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอุปทานคงค้างในบางพื้นที่ ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์ต่างชาติที่ปรับลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกซึ่งอาจส่งผลต่อการระบายอุปทานที่อยู่อาศัยคงค้างได้

คณะกรรมการฯ เห็นว่าในระยะต่อไปที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลง และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสมและตรงจุดยิ่งขึ้น เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งเห็นควรให้ ธปท. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้และคลินิกแก้หนี้ การนำหลักการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (responsible lending) ไปใช้อย่างเหมาะสม รวมทั้งแนวทางการสร้างวินัยทางการเงินและส่งเสริมการออมของครัวเรือน

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้พิจารณาแนวทางการดูแลความเสี่ยงเชิงระบบจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และศึกษามาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อดูแลความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต

คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายเกี่ยวกับการส่งผ่านนโยบายการเงิน ภายหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงของสถาบันการเงินหลายแห่งทยอยปรับลดลงสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากส่วนใหญ่ยังทรงตัว อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยจากเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ลดลง ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า และเห็นควรให้ติดตามผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะส่งผ่านไปสู่เศรษฐกิจ โดยกรรมการบางส่วนเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอยู่แล้ว อาจไม่สามารถช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น

"คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของข้อมูล (data-dependent) ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบของการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม" รายงาน กนง.ระบุ

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นถึงความจำเป็นในการประสานเชิงนโยบาย และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการฟื้นตัวและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขัน และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ