ธปท.ขอความร่วมมือสถาบันการเงินปรับการจัดชั้นลูกหนี้หนุนให้สินเชื่อช่วย SME ที่มีศักยภาพเดินหน้าธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 9, 2019 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ธปท.ได้ออกหนังสือเวียนไปถึงสถาบันการเงินเมื่อวันที่ 2 ต.ค.62 เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะในส่วนที่สถาบันการเงินจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS9) ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินปรับการจัดชั้นลูกหนี้ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่มีแนวโน้มเครดิตดีขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ให้สามารถขอสินเชื่อใหม่เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งนี้ ในหนังสือเวียนดังกล่าวเป็นการซักซ้อมความเข้าใจในแนวปฏิบัติ ซึ่งยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนทั้งสถานการณ์สงครามการค้า และภาวะภัยธรรมชาติในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ดังนั้น ธปท.จึงต้องการสื่อสารไปถึงสถาบันการเงินในฐานะผู้ปล่อยสินเชื่อให้ช่วยลูกหนี้แก้ปัญหาหรือปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ และยังมีศักยภาพให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

"เป็นการสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของ ธปท.ที่อยากให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพ ให้สามารถเดินต่อไปได้" นายจาตุรงค์ ระบุ

สำหรับสาระสำคัญของหลักเกณฑ์และแนวนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว มีดังนี้ ตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 ที่จะประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค.63 จะมีการแบ่งชั้นลูกหนี้แบบใหม่เป็น 3 ระดับชั้น ได้แก่ Stage 1 กลุ่มที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงด้านเครดิต, Stage 2 กลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ Stage 3 กลุ่มลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ธปท. จึงได้สื่อสารให้สถาบันการเงินมีแนวปฏิบัติ ดังนี้

1. การปรับโครงสร้างหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL : ไม่ถือว่าเป็นหนี้ที่มีปัญหา (Troubled debt restructuring: TDR) และไม่ต้องรายงานเครดิตบูโร โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใน stage 2 หากลูกหนี้ชำระหนี้ติดต่อกัน 3 เดือน หรือ 3 งวด ให้ปรับขึ้นเป็น stage 1 ได้

2. การปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็น NPL :

2.1 หากสถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้สามารถเลื่อนชั้นลูกหนี้จาก stage 3 เป็น stage 2 ถ้าลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ติดต่อกัน 3 เดือน หรือ 3 งวด ตามเงื่อนไขใหม่ได้ และหลังจากนั้น หากสถาบันการเงินพิจารณาว่าลูกหนี้จะสามารถปฏิบัติได้ตามสัญญาและไม่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สถาบันการเงินสามารถพิจารณาลูกหนี้ขึ้นเป็น stage 1 โดยไม่ต้องรอครบ 9 เดือนตามที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด

2.2 หากสถาบันการเงินเห็นว่าการให้สินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียน (working capital) แก่ลูกหนี้ NPL เพิ่มเติมจะช่วยให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ให้สถาบันการเงินพิจารณาให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้นั้นได้

"การซักซ้อมความเข้าใจในแนวปฏิบัติข้างต้น จะมีผลดีต่อ SMEs คือ ช่วยให้ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เป็นการช่วยรองรับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน อีกทั้งยังช่วยให้ลูกหนี้สามารถพลิกฟื้นธุรกิจอย่างทันท่วงที" นายจาตุรงค์ กล่าว

พร้อมระบุว่า เพื่อให้แนวนโยบายในการพิจารณาปรับชั้นลูกหนี้ของแต่ละสถาบันการเงินสอดคล้องกับประกาศของ ธปท. และข้อกำหนดมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง ธปท.ได้จัดทำแนวทาง SICR (Singnificant Increase in Credit Risk) ที่เป็นไกด์ไลน์และตัวอย่างในการพิจารณาข้อบ่งชี้ว่าลูกหนี้จะมีการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงด้านเครดิตอย่างมีนัยสำคัญจนนำไปสู่การพิจารณาปรับชั้นสินทรัพย์

โดย ธปท.จะให้สถาบันการเงินเป็นผู้กำหนดนโยบายภายในเกี่ยวกับข้อบ่งชี้ SICR ซึ่งควรพิจารณาข้อบ่งชี้ที่จะส่งผลต่อการลดลงของความสามารถในการชำระหนี้ หรือการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงด้านเครดิตอย่างมีนัยสำคัญ โดยมี 2 ด้านสำคัญ ซึ่งครอบคลุมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ 1.ด้านการค้างชำระ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้บ่อยครั้ง 2.ด้านฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และการชำระหนี้ เช่น ผลประกอบการของลูกหนี้มีแนวโน้มเสื่อมถอยลงอย่างเห็นได้ชัด

"หากข้อบ่งชี้ส่งสัญญาณเตือน สถาบันการเงินควรพิจารณาผลที่มีต่อการลดลงของความสามารถในการชำระหนี้ หรือการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงด้านเครดิตอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อปรับชั้นสินทรัพย์จาก stage 1 เป็น stage 2 และหากพิจารณาแล้วคงการจัดชั้นเดิม ก็ควรมีหลักฐานประกอบการพิจารณาไว้" นายจาตุรงค์กล่าว

"เท่าที่คุยกับสถาบันการเงิน เขาก็มีความตั้งใจที่จะช่วยลูกหนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ อยู่แล้ว เพราะเป็นลูกหนี้ในพอร์ตของเขา เขาต้องช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่บางสถาบันการเงินอาจมีความเข้าใจ หรือเกรงว่าเกณฑ์การจัดชั้นอาจจะเข้มงวด เราจึงได้ออกหนังสือเวียนออกไป"

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแนวโน้ม NPL ยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งแต่ละสถาบันการเงินได้พยายามบริหารจัดการลูกหนี้ที่เป็น NPL มาโดยตลอด โดยในปีนี้และปีหน้าเชื่อว่าสถาบันการเงินคงต้องกลับมาให้ความสำคัญกับหนี้ที่อยู่ในพอร์ตของตัวเองมากขึ้น ทั้งในส่วนของหนี้ส่วนบุคคล และหนี้ธุรกิจ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวน

"แนวโน้ม NPL เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถ้าสถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการได้ ด้วยแนวทางนี้ ก็จะช่วยหยุด NPL และช่วยให้ลูกหนี้สามารถเดินต่อไปได้...ในภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นเรื่องที่สถาบันการเงินต้องทำมากขึ้นในช่วงต่อไป และควรทำตั้งแต่ลูกหนี้ยังไม่เป็น NPL หรือถ้ามองภายใต้ TFRS9 เราควรทำตั้งแต่เป็น stage 1 stage 2 อย่าให้รอเป็น stage 3"นายจาตุรงค์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ