สศก.เผยช่วง 8 เดือนแรกปี 62 ภาพรวมไทยยังได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับคู่ค้าแม้ลดลงจากปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 11, 2019 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผย สถานการณ์ดุลการค้าสินค้าเกษตรจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีของไทยภายใต้กรอบเจรจาต่างๆ ที่ได้มีผลบังคับใช้ไปแล้วกับ 10 คู่เจรจา ได้แก่ อาเซียน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และล่าสุดฮ่องกง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.62 พบว่า ช่วง 8 เดือนแรกของปี 62 (ม.ค.-ส.ค.) ไทยยังคงรักษาความได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรในภาพรวมไว้ได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียว กันของปีก่อน

ในกลุ่มอาเซียน ไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 144,838 ล้านบาท ลดลง 16% จากการส่งออกข้าวและน้ำตาลลดลง โดย สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ น้ำตาล เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผลไม้ (ทุเรียน ลำไยสด/แห้ง มังคุด), ขณะที่ จีน ไทยได้ เปรียบดุลการค้ามูลค่า 112,843 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ผลไม้ (ทุเรียน มังคุด) ยางพารา และ ผลิตภัณฑ์แป้งจากธัญพืช, ญี่ปุ่น ไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 91,715 ล้านบาท ลดลง 2% เป็นผลจากการส่งออกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ ปลาและสัตว์น้ำลดลง สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ อาหารปรุงแต่ง ปลาและสัตว์น้ำ และยางพารา

ฮ่องกง ไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 20,854 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ผลไม้ (ทุเรียน) ข้าว และอาหารปรุงแต่ง, เกาหลีใต้ ไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 14,210 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ น้ำตาล อาหารปรุงแต่ง และยางพารา และ ออสเตรเลีย ไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 5,207 ล้านบาท ลดลง 23% เป็นผลจากการส่ง ออกอาหารปรุงแต่งลดลง สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ อาหารปรุงแต่ง ของปรุงแต่งจากธัญพืช/นม และซอส/เครื่องปรุง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศเปรู อินเดีย และนิวซีแลนด์ ที่ไทยเสียเปรียบดุลการค้าเพิ่มขึ้น โดยเปรู ไทยยังคงเสีย เปรียบดุลการค้า มูลค่า 258 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากการส่งออกปลาและสัตว์น้ำ และผลไม้ (องุ่นสด) เพิ่มขึ้น, อินเดีย ไทยเสีย เปรียบดุลการค้า มูลค่า 2,487 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 382% ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าสินค้ากาแฟ ชา เครื่องเทศ และประมงเพิ่มขึ้นมาก ส่วน นิวซีแลนด์ ไทยเสียเปรียบดุลการค้ามูลค่า 9,602 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 33) ซึ่งเกิดจากนำเข้านมผง ผลไม้ (แอปเปิ้ล และ กีวี) และปลารวมทั้งสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปใช้กับวัตถุดิบในการแปรรูปต่อไป, ขณะที่ชิลี ไทยเสียเปรียบดุลการค้ามูลค่า 1,790 ล้าน บาท ลดลง 25% จากการนำเข้าปลาและสัตว์น้ำ และผลไม้ลดลง

ทั้งนี้ ทิศทางการค้าสินค้าเกษตรกับคู่เจรจา FTA ในช่วง 8 เดือน ค่อนข้างชะลอตัวกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่อง จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นของไทย อย่างไรก็ตาม ไทย ยังได้เปรียบดุลการค้า 375,530 ล้านบาท ลดลง 5% จากการส่งออกผลไม้และยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของไทย

          ดุลการค้าของไทย และ 10 ประเทศคู่เจรจา FTA ช่วง 8 เดือนแรกปี 62 (ม.ค.-ม.ค.)

ประเทศ     ส่งออก(ลบ.)     นำเข้า     ดุลการค้าปี 62     ดุลการค้าปี 61     เปรียบเทียบปี 61/62
อาเซียน      213,371      68,533       144,838         173,181           -16%
จีน          155,251      42,408       112,843         100,028            13%
ญี่ปุ่น          99,899       8,184        91,715          94,012            -2%
ฮ่องกง*       20,998         144        20,854          19,127             9%
เกาหลีใต้      23,024       8,814        14,210          11,327            25%
ออสเตรเลีย    17,995      12,788         5,207           6,789           -23%
เปรู           1,499       1,757          -258            -212            22%
ชิลี            1,608       3,398        -1,790          -2,374           -25%
อินเดีย        10,586      13,073        -2,487             881           382%
นิวซีแลนด์       3,022      12,624        -9,602          -7,227            33%

ภาพรวม      547,253     171,723       375,530         395,533            -5%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ