รมว.พลังงาน แจง 3 นโยบายหลักในการทำงานให้ กมธ.วุฒิสภา ตั้งเป้าไทยเป็นฮับซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน-ก๊าซ LNG

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 16, 2019 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวภายหลังนำคณะผู้บริหารกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัด ร่วมพบปะหารือกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน วุฒิสภา นำโดย พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานฯ เพื่อให้ กมธ.ได้ติดตามและรับทราบนโยบายการทำงานของกระทรวงฯ ในทุกแง่มุม อาทิ ความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน การส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน การรื้อถอนแท่นการผลิตปิโตรเลียมของเชฟรอน รวมถึงเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

รมว.พลังงาน กล่าวว่า ได้ชี้แจงทิศทางของนโยบายสำคัญให้ กมธ.ทราบ 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.กระทรวงฯ ผลักดันนโยบาย Energy For All พลังงานเพื่อทุกคน เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจการบริหารจัดการพลังงานไปในกลุ่มฐานรากมากขึ้น จากเดิมมีเพียงผู้เล่นเป็นรายใหญ่ ทิศทางจะเป็นกระแส Prosumer ผู้ใช้ไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าได้เอง กระจายการผลิตพลังงานสู่ชุมชน เป็นนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน โดยอาศัยจุดแข็งที่แต่ละชุมชนมีวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแทนที่จะเผาทิ้งเกิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งหลังจากนี้จะสนับสนุนเชื้อเพลิงจากขยะเพื่อนำมาผลิตเป็นไฟฟ้าในลำดับต่อไป

2.การแก้ปัญหาสินค้าเกษตรของประเทศ ซึ่งกระทรวงฯ ได้นำร่องปรับสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มดิบในดีเซลเป็น B10 เพื่อเป็นดีเซลพื้นฐานแทน B7 จะประกาศใช้ทั่วประเทศวันที่ 1 มี.ค.63 เป็นต้นไป ซึ่งช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบได้ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั่วประเทศ โดยกระทรวงฯ จะทำหน้าที่ดูแลสต็อกของไบโอดีเซล (B100) เพื่อสร้างเสถียรภาพราคาปาล์ม หลังจากนี้พืชพลังงานถัดไปที่จะเข้ามาดูแล คือ อ้อย และมันสำปะหลังที่ใช้ผลิตเป็นเอทานอลผสมในน้ำมันเบนซินเป็นกลุ่มแก๊สโซฮอล์

3.การวางประเทศไทยเป็น Leader ด้านพลังงาน 2 เรื่องคือ 1)การเป็นศูนย์กลาง (Hub) ด้านการซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน โดยซื้อไฟจาก สปป.ลาวไปจำหน่ายให้แก่เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย เปลี่ยนบทบาทให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นเทรดเดอร์ภูมิภาค 2)การเป็นฮับด้านก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในภูมิภาค โดย ปตท.ได้ประกาศความพร้อมดังกล่าวแล้ว

รมว.พลังงาน กล่าวว่า ยังได้ชี้แจงต่อข้อสงสัยของ กมธ.เกี่ยวกับงบประมาณของกระทรวงฯ ว่า ได้รับจัดสรรน้อยเพียง 2 พันกว่าล้านบาท คิดเป็น 0.07% ของงบประมาณแผ่นดินรวม แต่สามารถสร้างรายได้กลับมาได้มากราว 10% ของงบประมาณ

อย่างไรก็ดีการสนับสนุนตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนจะไม่ได้ใช้เงินงบประมาณ โดยโรงไฟฟ้าชุมชนจะมีโมเดล 3 รูปแบบ คือ โมเดลที่เอกชนลงทุนร่วมกับชุมชน โมเดลที่ผลิตใช้เองอย่างเดียวสำหรับชุมชน จะมีงบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสนับสนุน และโมเดลโรงไฟฟ้าขยะ โดยบริหารจัดการองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ส่วนประเด็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รมว.พลังงาน กล่าวว่า จะเร่งรัดฟื้นการเจรจาตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างไทย-กัมพูชาเพื่อหาแนวทางการพัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกัน ส่วนการรื้อถอนของแหล่งสัมปทานที่กำลังหมดอายุก็อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหาทางออกโดยหลีกเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ

รมว.พลังงาน กล่าวว่า ยังชี้ให้ กมธ.เห็นถึงทิศทางสำคัญของนโยบายพลังงานที่สอดคล้องกับทิศทางโลก คือ การใช้พลังงานทดแทนจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น การใส่ใจต่อประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่านในยุค Disruption โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันแผน EV ของประเทศทั้งระบบออกมาช่วงต้นปีหน้า 2563 โดยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน Energy Storage เพื่อผลักดันให้ประเทศเป็นผู้นำด้าน EV ในระดับภูมิภาคต่อไป

ขณะที่นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กมธ.ได้สอบถามความคืบหน้าแผนเจรจาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา รวมถึงนโยบายและการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานต่างๆ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน การรื้อถอนแท่นแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช และการส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์ม โดย กมธ.จะติดตามการทำงานของกระทรวงฯ ทุก 3 เดือน โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ซึ่งกระทรวงฯ พร้อมให้ตรวจสอบ เนื่องจากมั่นใจการทำงานโปร่งใส

สำหรับแนวคิดในการแก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ จะใช้วิธีนำเอทานอลมาผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์มากขึ้น โดยคาดว่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนในอีก 2 เดือนข้างหน้า ส่วนการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชานั้นเป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานให้ความสนใจที่จะเจรจากับกัมพูชาต่อเนื่อง หากเจรจาสำเร็จโดยเร็วจจะส่งผลดีต่อไทยและกัมพูชาต่อไป

ส่วนปัญหาค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชนั้น มั่นใจว่าทีมงานกระทรวงฯ จะสามารถเจรจากับกลุ่มผู้รับสัมปทานรายเดิมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศได้ อย่างไรก็ดี ส่วนตัวเห็นว่าถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งให้นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ มาเป็นอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แทนนางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ ก็จะไม่เกิดปัญหาหรือผลกระทบต่อการเจรจาแก้ปัญหาค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียม เพราะเชื่อว่าบุคลากรระดับผู้บริหารกระทรวงพลังงานมีความเชี่ยวชาญทุกคน

นอกจากนี้ รมว.พลังงาน ยังมีนโยบายให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน โดยจะปรับเปลี่ยนบทบาทของ กฟผ.ให้สามารถเป็นได้ทั้งผู้ชื้อและขายไฟฟ้าในอาเซียนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ต่อไป ถึงแม้ประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนามจะประกาศพร้อมเป็นฮับ LNG เช่นเดียวกับไทย แต่มั่นใจว่าไทยมีศักยภาพและมีความพร้อมสูงสุดที่จะทำได้

ขณะที่นายอนุรุทธิ์ นาคาศัย เลขานุการ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในอีก 2 เดือนข้างหน้า กระทรวงฯ มีนโยบายเกี่ยวกับการลดประเภทการจำหน่ายน้ำมันของกลุ่มน้ำมันเบนซินลง โดยจะเน้นให้เหลือเพียงน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 (น้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอล 85% ในทุกลิตร) และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 (น้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอล 20% ในทุกลิตร) เนื่องจากจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้เอทานอลได้มากขึ้น และมีส่วนช่วยให้ราคาอ้อยสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งปัจจุบันชนิดน้ำมันกลุ่มเบนซินมีจำหน่ายมากเกินไป ซึ่งมีถึง 5 ชนิด ได้แก่ น้ำมันเบนซิน, แก๊สโซฮอล์ E85, แก๊สโซฮอล์ 95, แก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ E20 โดยจะต้องปรับลดลงให้เกิดความเหมาะสมต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ