อาเซียน-จีนกระชับความร่วมมืออย่างรอบด้านตามวิสัยทัศน์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday November 3, 2019 11:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 เพื่อร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน โดยมีประเทศสมาชิก 10 ประเทศอาเซียน และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วม

ทั้งนี้ นางนฤมล ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวในที่ประชุมว่า ในวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่อาเซียนและจีนจะได้เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้สูงขึ้นอีกระดับ เพื่อประโยชน์ร่วมกันและของภูมิภาค ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนถือว่ามีพลวัตมากที่สุดประเทศหนึ่ง จากพัฒนาการความสัมพันธ์ใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยถือเป็นเสาหลักสำคัญที่ค้ำจุนสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความยั่งยืนของภูมิภาค ซึ่งไทยในฐานะประธานอาเซียน หวังที่จะเห็นความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เจริญเติบโตยิ่งขึ้นไป เพื่อความผาสุกและผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองฝ่าย

ขณะที่อาเซียนชื่นชมจีนสำหรับบทบาทในการส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคและในการช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจความเชื่อมโยง และความร่วมมือระหว่างประชาชนอย่างแข็งขัน ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมา ได้ครบรอบ 15 ปี ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อาเซียนและจีน โดยได้รับรอง "วิสัยทัศน์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ค.ศ. 2030" ที่ถือเป็นแนวทางความสัมพันธ์อย่างรอบด้านระหว่างกัน

โดยที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้กระชับความร่วมมือตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว เช่น การที่จีนยังคงตำแหน่งคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียน และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันถึง 1 ล้านล้าน และ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับภายในปีหน้า และอาเซียนกับจีนจะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยมีแผนการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนแม่บทของอาเซียนในเรื่องนี้ (MPAC 2025) กับ BRI ของจีน รวมถึงการสนับสนุนระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยม เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการรักษาพลวัตด้านความมั่นคงที่ยั่งยืนระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์ และร่วมมือกันเสริมสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง ผ่านกลไกต่าง ๆ

สำหรับด้านเศรษฐกิจ ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทางทะเล การสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับ Greater Bay Area (GBA) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจที่สูง รวมทั้งประสงค์ที่จะเชิญชวนให้อาเซียน จีน และรวมถึงประเทศที่ 3 มาลงทุนใน EEC ในภาคตะวันออกของไทย โดยไทยยินดีที่จะประกาศว่า อาเซียนและจีนกำหนดให้ปี พ.ศ. 2563 เป็น "ปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน" ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อมั่นว่าจะช่วยขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้า เพื่อความมั่งคั่งของภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ