สมาคมไทยบิม เปิดตัวเป็นทางการ พร้อมเป็นคนกลางวางมาตรฐานงานออกแบบ 3 มิติ ยกระดับคุณภาพอสังหาฯไทยสู่ระดับสากล

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 5, 2019 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมร พิมานมาศ ในฐานะนายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (TBIM) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างชาติกำลังเปลี่ยนโฉมงานออกแบบใหม่ไปสู่ระบบ 3 มิติ ด้วยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า "BIM" (Building Information Modeling) ซึ่งในขณะนี้กระบวนการ BIM ในประเทศไทย ยังไม่มีมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรกลางเกิดขึ้น เพื่อช่วยสร้างกรอบการทำงาน และมาตรฐานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงได้เปิดตัวสมาคม TBIM อย่างเป็นทางการ เนื่องจากในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามา Disrupt ธุรกิจก่อสร้างมากยิ่งขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างและงานออกแบบของไทยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพด้านงานออกแบบรองรับ Thailand 4.0 ที่เป็นการปฏิรูปหรือปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยโฉมใหม่ทั้งระบบ เพื่อสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ทุกรูปแบบและองค์กรเติบโตก้าวทันกระแสการพัฒนาของโลก

โดยระบบ BIM จะสร้างแบบจำลองเสมือนจริงในคอมพิวเตอร์ ทำให้ผู้ทำงานเกี่ยวข้องสามารถเห็นส่วนประกอบตรงกัน ซึ่ง BIM จะสร้างโมเดล 3 มิติขึ้นมาพร้อมกับ Intelligent Information เช่น รายละเอียดวัสดุ เพื่อคำนวณปริมาณวัสดุก่อสร้าง ปรับปรุงกระบวนการออกแบบก่อสร้างและคำนวณพลังงานที่จะใช้ในอาคาร สร้างแบบจำลอง หรือ Digital Prototype Model ที่เสมือนจริง และเปลี่ยนจากการสร้างแบบบนกระดาษมาสู่เทคโนโลยีดิจิทัลและประสานข้อมูลบน Cloud สะดวกในการทำงานนอกสถานที่โดยสามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆได้อีกด้วย ซึ่งเป็นการนำไปสู่การส่งมอบอาคารที่มีคุณภาพสูงบากมาตรฐานของตลาดในปัจจุบัน

สำหรับประโยชน์ของการนำระบบ BIM เข้ามาใช้นอกเหนือจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการออกแบบและการก่อสร้างพัฒนาโครงการแล้ว ยังช่วยให้ประหยัดระยะเวลาในการก่อสร้างได้ พร้อมกับลดการสูญเสียจากการก่อสร้างได้ราว 20% ส่งผลให้เกิดการประหยัดต้นทุนในการก่อสร้างได้เพิ่มมากขึ้นจากระบบ 2D ที่ใช้ในปัจจุบัน และช่วยทำให้การวางแผนในการพัฒนาโครงการเป็นอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตามการที่จะนำระบบ BIM มาใช้จำเป็นต้องสร้างกรอบการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกันขึ้นมาให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายสามารถใช้ได้ในทิศทางเดียวกันก่อน โดยที่ทางสมาคม TBIM จะต้องเดินสายในการให้ความรู้กับหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ความรู้ หารือ และทำความเข้าใจเพื่อวางมาตรฐานร่วมกัน ทำให้กรอบในการทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก่อนที่จะผลักดันให้เกิดการใช้จริงอย่างเป็นทางการ

โดยจะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการร่างมาตรฐานการทำงานด้วยระบบ BIM เพื่อผลักดันการใช้ระบบ BIM ให้เกิดเป็นมาตรฐานใหม่ สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการก่อสร้างที่เป็นรูปแบบ Digital Construction อย่างเต็มรูปแบบภายในปี 67 ซึ่งทางสมาคมจะมีการพัฒนาหลักสูตรสัมนา เพื่อให้ความรู้กับบุคคลภายนอก และจัดงาน BIM EXPO 2020 ภายในช่วงไตรมาส 3/63 เพื่อทำให้ระบบ BIM เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น

"การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการสร้างโมเดลพิมพ์เขียวโครงการก่อสร้าง 3 มิติ ด้วยระบบ BIM จะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมโครงการก่อสร้างหรืออาคารประเภทต่างๆมากขึ้น และเห็นแนวโน้มชัดเจนขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้าทันทีที่เทคโนโลยี 5G เกิดขึ้นในไทย"นายอมร กล่าว

ปัจจุบันมีผู้พัฒนาโครงการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยได้นำเทคโนโลยีระบบ BIM เข้ามาใช้ในงานก่อสร้างแล้ว เช่น การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การก่อสร้างโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 ของบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) รวมไปถึงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของผู้ประกอบการชั้นนำในไทย โดยเฉพาะบมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) นอกจากนี้ในภูมิภาคอาเซียนยังมีประเทศที่นำระบบ BIM ไปใช้เป็นมาตรฐานในการพัฒนาโครงการก่อสร้างใหม่แล้ว คือ สิงคโปร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ