สภาพัฒน์ มองเศรษฐกิจ Q4/62 ดีกว่า Q3/62 ลุ้นโตได้ 2.8% หนุนทั้งปีโตถึง 2.6%,คาดปีหน้าปัจจัยหนุนโอกาสโตได้เกิน 3%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 18, 2019 12:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/62 จะเติบโตได้ดีขึ้นกว่าในไตรมาส 3/62 ที่เติบโต 2.4% เนื่องจากผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวน่าจะหมดไป ประกอบกับแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะเริ่มกลับมามีเสถียภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/62 จะต้องขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 2.8% เพื่อให้ทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.6% ตามที่สภาพัฒน์ได้ประมาณการไว้ล่าสุด อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 2.6% ถือว่าเป็นการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 57 ที่ขยายตัวได้ 1%

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/62 ที่ขยายตัวได้ 2.4% เป็นการขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อย คือเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/62 โดยภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นผลมาจากการเติบโตอย่างช้าๆ จากปัจจัยด้านการใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชน การอุปโภคภาครัฐ ตลอดจนการลงทุนของภาครัฐและเอกชน และการส่งออก ในขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนชะลอตัวลงจากปัจจัยชั่วคราว เช่น ยอดการสั่งซื้อรถยนต์ใหม่ที่ชะลอตัวลง เนื่องจากรอซื้อรถรุ่นใหม่ที่จะออกมาในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

นายทศพร กล่าวถึงประเด็นการบริหารเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้านั้นว่า สภาพัฒน์เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับ 5 ประเด็นที่สำคัญ ดังนี้ 1.การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันการค้า, การให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต 2.การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้สามารถขยายตัวและสนับสนุนเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง กระจายตลาดนักท่องเที่ยวให้มีความสมดุลมากขึ้น รวมทั้งรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น 3.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยเตรียมโครงการให้มีความพร้อมต่อการเบิกจ่ายได้เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 มีผลบังคับใช้ ตลอดจนเร่งรัดอัตราเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 ให้ไม่ต่ำกว่า 92.3% โดยงบประจำ ต้องเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่า 98% และงบลงทุน ต้องเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่า 70%

4.การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อเพิ่มระดับการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม, ผลักดันโครงการลงทุนที่ขอรับและได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว, ส่งเสริมการลงทุนและมาตรการรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ และ 5.การดูแลเกษตร กำลังแรงงาน ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก

เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังกล่าวด้วยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะต้องทำควบคู่กันไปทั้งในเรื่องของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการส่งออกและนำเข้า ซึ่งแม้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยาก แต่ก็ต้องพยายามดูแลให้ดีที่สุด

ขณะที่มาตรการภาคการเงิน เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลได้เป็นอย่างดีแล้ว ทั้งในด้านของอัตราแลกเปลี่ยน และเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งต้องมีมาตรการที่เป็นทิศทางเดียวกันและช่วยเกื้อหนุนกันถึงจะทำให้เศรษฐกิจไทยผ่านจุดนี้ไปได้ "มาตรการที่จำเป็น คือการกระตุ้นอุปสงค์ให้มากขึ้น แต่ต้องทำในขอบเขตที่รับได้ ใช้กระสุนเฉพาะเท่าที่จำเป็น" เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒน์ เชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 63 จะเติบโตดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.7-3.7% หรือค่าเฉลี่ยที่ 3.2% ซึ่งขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้ โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1.หลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.4% จากในปีนี้ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้เพียง 3% ซึ่งเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวดีจะส่งผลดีต่อปริมาณการค้าโลกให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย 2. การส่งออกของไทยสามารถปรับตัวได้ดีขึ้นจากผลกระทบมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งดูได้จากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่ยังสามารถทำได้ดี รวมถึงการส่งออกไปตลาดจีนด้วยเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังพบว่าการส่งออกในรายสินค้าที่อยู่ในมาตรการกีดกันทางการค้ายังสามารถขยายตัวได้ดีกว่าการส่งออกสินค้าที่อยู่นอกมาตรการกีดกันทางการค้า 3. แรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาทในปีหน้าจะไม่รุนแรงเท่ากับในปีนี้ โดยประเมินว่าในปี 63 ค่าเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 30.50-31.50 บาท/ดอลลาร์ จากปีนี้คาดว่าเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ 31 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของประเทศเศรษฐกิจหลักที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการคงนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการดำเนินมาตรการของ ธปท.ในการปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกมากขึ้น จะช่วยลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทในปีหน้าลงได้ สำหรับข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ได้แก่ 1.ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกอาจจะขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ อันเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐและจีนอาจชะลอตัวมากกว่าคาด หากสงครามการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนยังมีความเสี่ยงจากกรณีอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) 2.ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของจีน สถานการณ์ทางการเมืองในสหรัฐ ทั้งกรณีการถอดถอนและการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในช่วง พ.ย.63 และ 3.ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้า เช่น ความต่อเนื่องของการขยายตัวในเกณฑ์ดีจากอุปสงค์ในประเทศ ที่ได้แรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ, ภาคการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ, การดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ และการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ