(เพิ่มเติม) นายกฯ สั่งครม.เศรษฐกิจปรับการทำงาน เน้นดูแลปัญหารากหญ้า-แรงงาน พร้อมขับเคลื่อนลงทุนภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 19, 2019 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวว่า ได้กำชับกับบรรดารัฐมนตรีให้ไปดูแลปัญหาทั้งในด้านเศรษฐกิจฐานราก กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มแรงงาน ว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เนื่องจากหลายอย่างเป็นมิติที่ต้องหารือร่วมกันในการทำงาน

พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้พัฒนาปรับปรุงการทำงานของรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจไปด้วยให้ครอบคลุมในหลายมิติ เนื่องจากงานต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ซึ่งรวมถึงการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงด้านท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐที่ประกอบไปด้วยหลายส่วน ทั้งงบประมาณภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ที่จะต้องเร่งขับเคลื่อนในไตรมาส 4/62 เพื่อส่งต่อไปยังไตรมาส 1/63

"งบประมาณปีหน้าต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ อยู่ในขณะนี้...ทุกคนต้องร่วมมือกัน ทำอย่างไรให้เดินหน้าไปได้ ถ้าพูดถึงแต่อะไรที่ไม่ดี ก็จะทำให้ขาดความเชื่อมั่น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ขณะนี้มีโรงงานที่ปิดกิจการและเลิกจ้าง แต่ขณะเดียวกันก็มีโรงงานเปิดใหม่เกิดขึ้น ในส่วนของแรงงานก็ต้องยกระดับความสามารถ ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าผู้ที่เรียนจบสาขาใดที่ว่างงาน และตลาดแรงงานต้องการผู้เรียนจบสาขาใด บางกลุ่มอาจมีปัญหาบ้างก็ต้องพิจารณาว่าจะช่วยอย่างไร โดยรัฐบาลมีมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

"ปัจจัยเปลี่ยนไปต้องให้ความเป็นธรรมต่อรัฐบาลบ้าง รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ ทุกคนต้องช่วยกันทำ ขอให้เป็นกำลังใจให้กันและกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ได้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจไตรมาส 3/62 และแนวโน้มปี 62-63 ต่อที่ประชุม ครม.วันนี้ นายกรัฐมนตรีจึงอยากให้ทุกกระทรวงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับฐานราก เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ไปถึงกลุ่ม SMEs และผู้ประกอบการทั่วไป

ขณะเดียวกันมีข้อเสนอจากรัฐมนตรีบางท่านถึงการทำงานของ ครม.เศรษฐกิจ ว่าควรปรับรูปแบบการทำงานให้ตอบสนองกับยุทธศาสตร์ชาติมากขึ้น โดยจะต้องยึดโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในทุกระดับ ทั้งนี้ ให้พิจารณาว่าแผนงานในแต่ละกระทรวงใดมีความเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และนำมาจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหา

"อีกไม่นานคงได้เห็นการปรับปรุงการทำงานของ ครม.เศรษฐกิจต่อไป วันนี้ได้มีการหารือกัน มีข้อเสนอแนะที่ดีหลายประการ จากหลายรัฐมนตรีที่ห่วงใยพี่น้องประชาชน...รัฐมนตรีหลายคนต้องการเห็น ครม.เศรษฐกิจช่วยขับเคลื่อนกลไกต่างๆ " โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

ขณะเดียวกันนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยังเห็นว่าการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นจะต้องดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังพึ่งพิงการส่งออกในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการใช้จ่าย และการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคเอกชน

"ท่านพูดถึงโครงการชิมช็อปใช้ที่ออกมา คงจะเริ่มเห็นผลมากขึ้นในการกระตุ้นการใช้จ่าย และอาจจะมีแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจตามมา กำลังอยู่ในการพิจารณาของกระทรวงการคลัง และยังมีการลงทุนภาครัฐ ซึ่งหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจจะต้องลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตัวจักรสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 คือหวังให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้นในฝั่งของประชาชน และมีการลงทุนมากขึ้นในภาครัฐและเอกชน จึงขอให้ร่วมกันสร้างความเชื่อมั่น เพราะถ้าไม่มีความเชื่อมั่น เราจะไม่กล้าใช้จ่าย ศักยภาพมีอยู่แล้ว แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นเพิ่ม"โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ