รายงาน กนง.แจงเหตุลดดอกเบี้ยมองแนวโน้มศก.โตต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้นจากส่งออกฟื้นช้า-จ้างงานลดลงเร็ว-ใช้จ่ายรัฐขยายตัวต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 20, 2019 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 7/2562 เมื่อวันที่ 6 พ.ย.62 ซึ่งคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลงส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ด้านเสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วระดับหนึ่ง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

"กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.50% เป็น 1.25% ต่อปี ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี" รายงาน กนง.ระบุ

กนง.อภิปรายถึงปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงิน ดังนี้

1.เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม และต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้น โดยการส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้ ขณะที่การจ้างงานมีแนวโน้มปรับลดลงเร็วทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้

กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปเผชิญกับความเสี่ยงสูงทั้งปัจจัยต่างประเทศและปัจจัยในประเทศ ได้แก่ 1) การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน 2) แนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทยอาจเติบโตชะลอลง 3) การดำเนินนโยายการเงินของธนาคารกลางในประเทศอุตสาหกรรมหลักที่อาจผ่อนคลายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 4) ความไม่แน่นอนของการใช้จ่ายภาครัฐจากความคืบหน้าโครงการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ 5) การบริโภคภาคเอกชนที่อาจชะลอตัวกว่าคาดจากการจ้างงานและรายได้ที่ลดลง 6) ความเสี่ยงของภัยแล้งในปีหน้าที่จะกระทบต่อรายได้ภาคเกษตร

นอกจากนี้ กนง.เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวม โดยเห็นผลกระทบต่อกำไรและสภาพคล่องของธุรกิจ การจ้างงานในภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกปรับลดลงเร็ว อุปสงค์ในประเทศชะลอตัวชัดเจนขึ้น รวมทั้งความสามารถในการชำระหนี้ด้อยลงในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออก สะท้อนจากคุณภาพสินเชื่อที่มีแนวโน้มด้อยลงต่อเนื่อง กนง.จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

2. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 62 และปี 63 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและอุปทานน้ำมันของซาอุดิอาระเบียที่กลับมาเร็วกว่าคาด ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงกว่าที่คาดตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลง ในระยะต่อไป กนง.เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อยังมีความไม่แน่นอนจากความผันผวนของราคาน้ำมันและสภาพอากาศ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นช้ากว่าในอดีต

3. ความเสี่ยงในระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน ด้วยมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไป อาทิ ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับดีขึ้นหลังมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ สะท้อนจากการเก็งกำไรที่ชะลอลงและการปรับตัวของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอลง

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงในจุดอื่น ๆ ยังไม่ปรับดีขึ้นและเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เช่น ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs, พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ, ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์จากอุปทานคงค้าง

"คณะกรรมการฯ เห็นว่าในระยะต่อไปที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลง และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสมและตรงจุดยิ่งขึ้นเพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน" รายงาน กนง.ระบุ

อย่างไรก็ดี กนง.อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เป็น 1.25% ต่อปี โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลงชัดเจนและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมาย ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศ เพื่อให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้มีเวลาปรับตัว เพื่อรับมือกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โดยเร่งปรับโครงสร้างหนี้ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

กนง.ยังอภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน โดยจะติดตามพัฒนาการของข้อมูล (data-dependent) ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ กนง.เห็นถึงความจำเป็นในการประสานเชิงนโยบายและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ในการสนับสนุนการฟื้นตัวและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ