"สหัส"ยันความจำเป็นเดินหน้าศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่พร้อมฟังประชาชน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 29, 2008 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเดินหน้าศึกษาแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานในอนาคตหากเกิดปัญหาวิกฤติพลังงาน แต่การตัดสินใจว่าจะก่อสร้างหรือไม่นั้นต้องฟังเสียงประชาชน
"นิวเคลียร์เป็นพลังงานทางเลือกที่น่าสนใจ อย่าเพิ่งไปตัดทิ้ง เราต้องศึกษาเอาไว้ก่อน ถ้ายิ่งช้าราคายิ่งแพง ตอนนี้ต้องเริ่มเขี่ยบอลแล้ว ไม่ใช่รอให้เกิดวิกฤติ" นายสหัส กล่าวกับผู้สื่อข่าว
เมื่อปลายเดือน ต.ค.50 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้อนุมัติงบประมาณ 1,800 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์(NPPDO)เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน
แผนงานช่วง 3 ปีแรก(51-53) จะเป็นการศึกษาและวางแผนโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ด้านเทคนิคโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ศึกษาความเหมาะสม การคัดเลือกสถานที่ตั้ง การประมาณการค่าใช้จ่าย ฯลฯ
ขณะเดียวกันตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP 2007) กำหนดที่จะให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 63 กำลังการผลิต 2,000 เมกะวัตต์ และปี 64 กำลังการผลิต 2,000 เมกะวัตต์
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สาเหตุที่ให้ความสนใจเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะมีความเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาการขาดแคลนพลังงานในอนาคต ดังนั้นจึงต้องเตรียมการแก้ไขไว้ล่วงหน้า และประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการคือ การทำความเข้าใจและให้ความรู้แก่ประชาชนเสียก่อน
"ปัญหาเรื่องการสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะตามรัฐธรรมนูญหากประชาชนไม่เห็นด้วยก็คงสร้างไม่ได้" นายสหัส กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพัฒนาประเทศในอนาคตจะมุ่งแค่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ หากไม่มีความพร้อมในเรื่องพลังงานที่จะมารองรับ อีกทั้งการจัดหาพลังงานประเภทอื่นก็มีข้อจำกัด เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ