ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ปรับลดคาดส่งออกปีนี้หดตัว -2.5% จากเดิม -1% มองปีหน้ายังเสี่ยงหดตัวต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 21, 2019 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าของไทยในปี 62 ลงมาอยู่ที่ -2.5% และ -5.0% จากดิมที่คาด -1.0% และ -3.0% ตามลำดับ จากภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 62 การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยมากกว่าที่ประเมินไว้

ขณะที่การส่งออกและนำเข้าสินค้าไทยในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ยังมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่อง จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและสถานการณ์ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมทั้งค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ลดทอนขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคากับประเทศคู่แข่งอื่นๆ

เมื่อมองไประยะข้างหน้า ทิศทางการส่งออกสินค้าไทยในปี 63 ยังเผชิญปัจจัยกดดันจากทิศทางเศรษฐกิจหลักของโลกที่ชะลอตัว ค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังอยู่ในระดับสูง สถานการณ์สงครามการค้าและ BREXIT ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งจะยังเป็นตัวกดดันบรรยากาศการค้าโลก นอกจากนี้ ยังต้องติดตามประเด็นการตัดสิทธิ์ GSP ของสหรัฐฯ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ทิศทางการส่งออกของไทยในปีหน้ายังมีความเสี่ยงที่จะยังหดตัวอยู่

ทั้งนี้ จากการส่งออกสินค้าไทยเดือน ต.ค.62 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เป็นผลจากการชะลอตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การแข็งค่าของเงินบาท ฐานราคาน้ำมันดิบที่สูงในปีก่อน รวมถึงความผันผวนของมูลค่าการส่งออกทองคำ

การส่งออกสินค้าเดือนต.ค.62 มีมูลค่า 20,757.78 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว 4.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ภาพรวมช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) หดตัวเพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกมาที่ -2.35% YoY โดยการส่งออกสินค้าที่หดตัวลงในเดือน ต.ค.เป็นผลมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกและผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากความผันผวนของมูลค่าการส่งออกทองคำที่พลิกกลับมาหดตัว 22.24% YoY หลังขยายตัวสูงมากจนเป็นแรงหนุนสำคัญของการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตลอดจนมีผลของฐานราคาน้ำมันดิบโลกที่สูงในปีก่อน (โดยในเดือน ต.ค.61 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 70-80 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล เปรียบเทียบกับในเดือน ต.ค.62 ราคาเคลื่อนไหวในช่วง 58-63 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล) ที่ทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบมีมูลค่าลดลงจากผลทางด้านราคาโดยเปรียบเทียบ เมื่อหักมูลค่าการส่งออกทองคำและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันแล้ว การส่งออกในเดือนต.ค.62 หดตัว 1.2% YoY

หากพิจารณารายตลาดส่งออก จะเห็นว่า ตลาดสหรัฐฯ ยังขยายตัวดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ 4.80% YoY สวนทางกับภาพรวมที่หดตัวติดต่อกัน เมื่อพิจารณารายสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ จะเห็นว่าสินค้าที่ขยายตัวดีบางส่วนเป็นรายการสินค้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น ชี้ให้เห็นว่าไทยได้อานิสงส์บางส่วนจากการส่งออกสินค้าไปทดแทนจีนในตลาดสหรัฐฯ

ขณะที่การส่งออกสินค้าไทยไปจีนกลับมาหดตัวอีกครั้งที่ -4.2% YoY ในเดือน ต.ค.62 จากการหดตัวของการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเป็นสำคัญ เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ ยางพารา และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในเดือนต.ค.62 ดุลการค้าจากทองคำขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีการขาดดุลทองคำที่มูลค่า 465.23 ล้านดอลลาร์ฯ ส่งผลให้ดุลการค้ารวมเกินดุลลดลงจากช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ การขาดดุลการค้าทองคำที่เพิ่มขึ้นยังช่วยลดทอนแรงกดดันบางส่วนที่มีต่อการแข็งค่าเงินบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ