ผู้ว่าธปท. พร้อมใช้นโยบายการเงินดูแลเศรษฐกิจให้เหมาะสมตามสถานการณ์ หลังมองบาทผันผวน-ศก.ปีนี้โตต่ำกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 25, 2019 09:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันที่ระดับ 1.25% ถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และยังต่ำสุดเมื่อเทียบกับในภูมิภาค โดยยอมรับว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในระดับนี้จนไม่มีความสามารถในการทำนโยบายการเงินแบบแรงๆ ได้ "ตอนหลังเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008-2009 วันนั้นเราลดดอกเบี้ยลงจาก 3% ลงมาเหลือ 1.25% ซึ่งถือว่าเป็นยาแรง แต่วันนี้อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1.25% มันต่ำมากจนเราไม่มีความสามารถในการทำนโยบายการเงินแรงๆ แบบเดิมได้แล้ว เพราะคงไม่สามารถลดดอกเบี้ยลงได้มาก" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว พร้อมระบุว่า ไม่คิดว่าประเทศไทยจะมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ติดลบ เนื่องจากเห็นว่าไม่อยู่ในสภาวะที่ควรจะทำ เพราะจะเป็นการสร้างปัญหาให้เสถียรภาพเศรษฐกิจในอนาคตเป็นอย่างมาก ขณะที่นโยบายการคลังก็ยังมีขีดจำกัดอยู่มาก เพราะยังมีภาระทางการคลังอีกมากในอนาคต อีกทั้งกลไกของระบบราชการก็ยังมีอุปสรรคในการทำงาน "การที่เราจะส่งผ่านนโยบายการเงินไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง ก็จะไม่แรงเหมือนเดิม เพราะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง แม้รายได้จะเพิ่มมากขึ้นก็จริง แต่การบริโภคก็จะไม่เพิ่ม เพราะภาระหนี้ยังมีเพิ่มมากขึ้น" นายวิรไทกล่าว อย่างไรก็ดี ยังคงยืนยันว่า ธปท.ทำนโยบายการเงินโดยยึดหลัก data dependent และหากแนวโน้มเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่ประเมินไว้ ก็พร้อมจะใช้นโยบายการเงินให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้น ซึ่งการเลือกใช้นโยบายการเงินในแต่ละช่วงเวลา จะต้องชั่งน้ำหนักให้มีความเหมาะสมระหว่างการใช้เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ หรือการรักษาขีดจำกัดของความสามารถในการทำนโยบายไว้สำหรับระยะยาว รวมทั้งคำนึงถึงผลข้างเคียงต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคตด้วย "ขอย้ำว่า เราพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงิน หากเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือแนวโน้มเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้" นายวิรไทกล่าว ผู้ว่าการ ธปท. ยังมองแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนในระยะต่อไปด้วยว่า จะมีความผันผวนมากขึ้น และยากจะคาดเดาได้ว่าเงินบาทจะปรับตัวไปในทิศทางใด ซึ่งปัจจุบันเงินบาทแข็งค่ามากกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค และแข็งค่าเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานของประเทศ โดยปัจจัยหลักที่มีผลสำคัญต่อการกำหนดทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนใหญ่จะมาจากปัจจัยต่างประเทศที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ดังนั้นจึงต้องการให้ภาคเอกชนบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้ดี เพราะตลาดการเงินของโลกที่มีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ในระดับสูง ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนก็จะเพิ่มขึ้นสูงมาก "ถ้าสถานการณ์ในต่างประเทศเปลี่ยน ค่าเงินอาจจะปรับทิศได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีใครคาดเดาได้ ไม่ใช่การเปลี่ยนไปทิศทางเดียวเสมอไป ดังนั้นจึงจะต้องทำให้ภาคเอกชนสามารถรับมือกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างเท่าทัน ตั้งการ์ดรองรับได้ เพื่อให้สามารถวางแผนธุรกิจเพื่อบริหารความเสี่ยงได้ เพราะในโลกที่มีสภาพคล่องส่วนเกินในระดับสูง ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนก็จะเพิ่มขึ้นสูงมาก" นายวิรไทกล่าว นายวิรไท ยังกล่าวถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ว่า ในเดือน ธ.ค. นี้ ธปท. จะมีการทบทวนแนวโน้มการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง เนื่องจากตัวเลข GDP ไตรมาส 3/62 ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ ดังนั้นในเบื้องต้นจึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสจะเติบโตต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.8% โดยปัจจัยสำคัญมาจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าที่ส่งผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจไทย "เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศรวมทั้งไทย เพราะการขยายตัวของการค้าโลกในปีนี้อยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับ 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการค้าในภูมิภาคเอเชียที่เรียกว่าเป็นห่วงโซ่การผลิตในเอเชียตะวันออกก็จะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ ซึ่งเราก็เป็นประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของเอเชียตะวันออก ไม่ใช่กระทบแต่ไทยเท่านั้น แต่กระทบกับประเทศที่เป็นเศรษฐกิจแบบเปิด และพึ่งพิงการส่งออกในระดับค่อนข้างสูง" นายวิรไทกล่าว พร้อมมองว่า ทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 63 ยังมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปีนี้ เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่จะช่วยให้เศรษฐกิจในปีหน้าดีขึ้น ได้แก่ โครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ ตลอดจนรัฐวิสาหกิจจะสามารถขับเคลื่อนได้อย่างคล่องตัวมากกว่าปีนี้ เนื่องจากการเบิกจ่ายเงินจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 จะเริ่มทยอยออกมาใช้ได้ในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งต่างจากในปีนี้ที่การขับเคลื่อนโครงการลงทุนต่างๆ เป็นไปได้ล่าช้า เพราะติดขัดในเรื่องการอนุมัติงบประมาณ ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่งมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนั้น ยังเป็นผลมาจากที่รัฐบาลพยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยหนุนจากการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การผลิตและการส่งออกของไทยในปีหน้ามีแนวโน้มที่น่าจะดีขึ้นกว่าปีนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่จะต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ หรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่แม้ทั้งสองฝ่ายพยายามจะให้มีการเจรจากันเกิดขึ้น แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก เพราะปีหน้าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ จึงต้องติดตามว่าจะมีมาตรการใหม่อะไรออกมาเพิ่มเติม และการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะมีข้อสรุปไปในทิศทางใด ซึ่งปัจจัยนี้จะเป็นความเสี่ยงหลักต่อระบบเศรษฐกิจไทยและระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกในปีหน้าด้วย ผู้ว่าฯ ธปท. ยังให้ความเห็นถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงที่ผ่านมาว่า ส่วนใหญ่จะเป็นมาตรการที่เยียวยาผลกระทบในระยะสั้น เช่น กระตุ้นการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอย การช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตร โดยมองว่าเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันและน่าจะมีความสำคัญมากขึ้นในระยะต่อไป คือ มาตรการที่จะมีผลต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ และการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกฎกติกาของภาครัฐที่เป็นต้นทุนแฝงในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ รวมทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อยกระดับผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยให้สูงขึ้น "การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล จะเป็นระบบนิเวศใหม่ที่เราต้องการเพื่อช่วยเพิ่มผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจไทย เรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อรองรับระบบ 5G การรองรับ Internet Of Things (IoT) ที่จะเข้ามา เหล่านี้จะเป็นการลงทุนที่สำคัญและมีผลช่วยให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว และมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น" นายวิรไทกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ