"เศรษฐกิจ-ลงทุนปี 63" EP 1: โอกาสดอกเบี้ย"เงินฝาก"เหลือ 0% หรือถึงขั้น "ติดลบ"??

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2019 14:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า มีโอกาสสูงที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก แม้จะต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์แล้วก็ตาม และจะทำให้ยังพอมีความเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยเงินฝากจะลงไปเหลือ 0% หรืออาจถึงขั้นติดลบเหมือนกับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แม้จะเชื่อว่าคงไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายนัก

*โอกาสแบงก์ชาติลด"ดอกเบี้ย"ลงอีก

ดอกเบี้ยนโยบายของไทยลงไปสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์หลังจาก กนง.ลงมติ 5 ต่อ 2 ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อ 6 พ.ย.62 ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ลงมาเหลือ 1.25% โดยให้เหตุผลหลักคือเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำและแนวโน้มจะต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลก็ต่ำ เงินบาทแข็งค่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มหลุดขอบล่างของกรอบเป้าหมาย

ผลที่ตามมาคือธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ทยอยกันปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อเป็นไปตามทิศทางเดียวกับดอกเบี้ยนโยบาย แม้จะกระทบกับศักยภาพการทำกำไรของธนาคารแต่ละแห่งก็ตาม แต่เป็นที่น่าสนใจว่าหลังจากนี้ไปหากภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่เกิดสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศจะกลายเป็นขาลงยาวนานแค่ไหน จะไปถึง 0% หรือ ติดลบหรือไม่ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในและต่างประเทศยังรุมเร้าในขณะนี้

นายประกิต มองว่า สมมุติฐานการปรับดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะเร่งตัวขึ้นในระยะสั้นได้หรือไม่ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจถึงขั้นเรียกว่าซบเซา สะท้อนจากในเดือน ต.ค.62 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.10% เท่านั้น เฉลี่ย 10 เดือนอยู่ที่ 0.50% หากนำอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ ก็ยังเหลือช่องว่างให้ลดดอกเบี้ยลงได้อีก และในทางกลับกันถ้าเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมาใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบาย ก็น่าจะเป็นหนึ่งในสัญญาณของการสิ้นสุดดอกเบี้ยเป็นขาลงแล้ว

เมื่อพิจารณามุมมองของ กนง.5 คนที่เห็นว่าควรลดดอกเบี้ย แต่ไม่เห็นด้วย 2 คนนั้น หนึ่งในเหตุผลที่ยังไม่ต้องการให้ลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุด เพราะต้องการเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบถัดไป หลังมีมุมมองเศรษฐกิจไทยช่วงนี้ยังพอจะประคับประคองไปได้ นโยบายการคลังของรัฐบาลกำลังเริ่มส่งผลบวกต่อระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ช่วงต้นปี 63 จะมีปัจจัยบวกรออยู่จากการเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามปกติ เป็นสิ่งสะท้อนว่า ธปท.มีเครื่องมือค่อนข้างจำกัด

"ไซเคิลนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนปี 51 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ช่วงนั้นเงินเฟ้อสูง เมื่อถึงเวลาเศรษฐกิจตกต่ำเงินเฟ้อก็ดิ่งลงมา ดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงตาม หลังจากนั้นเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น เงินเฟ้อเร่งขึ้นมา ดอกเบี้ยนโยบายก็ต้องหยุดปรับลดลง และทยอยขึ้นในระยะถัดมา ต่อมาในปี 58 เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ก็มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ดังนั้น ในรอบนี้จึงมองเห็นความเป็นไปได้การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้อีก แต่จะรุนแรงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กนง.ว่าจะใช้ความระมัดระวังเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็นมากน้อยแค่ไหน"

*ลดดอกเบี้ย "บางครั้ง"อาจไม่ใช่คำตอบกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายประกิต เชื่อว่า เหตุผลหลักของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบล่าสุด น่าเกิดจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ประกอบกับต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการนำเงินออกมาสู่ระบบให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการหมุนเวียน

หลายครั้งที่ ธปท.ใช้นโยบายการเงินด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาต่ำ แม้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องการดำเนินการท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่การลดดอกเบี้ยไม่ได้ส่งผลบวกกับเศรษฐกิจทุกครั้งไป เพราะบางครั้งบรรยากาศไม่ได้เอื้อให้ประชาชนหรือเอกชนกู้เงินมาลงทุนจับจ่ายใช้จ่าย เนื่องจากตัวแปรสำคัญไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น แต่การตัดสินใจขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นกับเศรษฐกิจมากกว่า

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐสูงกว่าไทย แต่เงินทุนต่างประเทศก็ไม่ได้ไหลออกไป เป็นสิ่งสะท้อนถึงความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของไทยยังมีอยู่สูง และกลายเป็นว่าในช่วงนี้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ดี ยิ่งทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามามากขึ้น เพราะเงินบาทถูกมองเป็น "Safe Haven" หรือสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง เศรษฐกิจมีความเสี่ยงเพียงไม่กี่จุด หนึ่งในนั้น คือ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนสูงเมื่อเทียบกับ GDP ขณะที่ไทยยังเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ตราบใดที่ยังเป็นเช่นนี้ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าได้ต่อเนื่อง

"สถานะการค้าเราดี ค้าขายระหว่างประเทศยังมีกำไร สะท้อนจากการเกินดุล ขณะที่ฐานะการเงินมีความแข็งแกร่ง จากทุนสำรองระหว่างประเทศมีปริมาณสูง ระดับหนี้ต่างประเทศก็ต่ำ หนี้สาธารณะของภาครัฐยังไม่สูง เป็นเหตุผลให้เงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาในไทย ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อต่ำ เป็นปัจจัยกดดันต้องปรับลดดอกเบี้ยลงมา เพื่อให้เงินกระจายออกเข้าสู่ระบบ ให้ประชาชนกู้หนี้ยืมสิน จับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น"

*เป็นไปได้"ดอกเบี้ยเงินฝาก"เหลือ 0% หรือ"ติดลบ" แต่โอกาสยังน้อย

นายประกิต กล่าวว่า ถ้าย้อนไปในอดีต แนวโน้มดอกเบี้ยเงินกู้ของ 5 ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ของไทย เคยลดลงไปอยู่แถวๆ ค่าเฉลี่ย 5% ในช่วงปี 45 หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ใกล้เคียง 1.25% เหมือนกับในปัจจุบัน ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ช่วงนั้นใกล้เคียง 0% จากก่อนหน้านั้นวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นไปสูงถึง 10-12% เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยกู้

สถานการณ์ในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาเหลือ 1.25% ใกล้เคียงกับปี 45 แล้ว แต่ดอกเบี้ยเงินกู้ยังปรับลดตามมาไม่ทัน นั่นแปลว่าดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากมีโอกาสปรับลดลงได้อีก

"มีความเป็นไปได้ดอกเบี้ยเงินฝากเหลือ 0% หรือ "ติดลบ" เพราะในต่างประเทศเกิดขึ้นแล้ว อาทิ ญี่ปุ่นดอกเบี้ยนโยบายติดลบ ,ยุโรป ดอกเบี้ยนโยบายเกือบติดลบ โดยทั้ง 2 แห่งอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว 10 ปียังติดลบเช่นกัน นั้นหมายความว่าการนำเงินไปฝากกับธนาคารต้องมีค่าใช้จ่าย แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นในไทยนั้นยังไม่สูง ยกเว้นว่าเศรษฐกิจต้องเกิดภาวะซบเซามากกว่านี้ เป็นการกดดันให้ประชาชนทั่วไปและคนรวยที่มีเงินฝากจำนวนมากนำเงินออกมาใช้จ่ายเพิ่มการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุน เป็นหนึ่งในปัจจัยช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น"

*ภาวะดอกเบี้ยต่ำ...ประชาชนเสี่ยงโดนหลอกแชร์ลูกโซ่

สิ่งที่น่ากลัวของผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ นายประกิต ยอมรับว่า จะเริ่มเกิดภาวะ "Search For Yield" ทำให้เงินไหลเข้าไปสู่สินทรัพย์อื่น ๆ ทั้งในกลุ่มสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีผลตอบแทนที่ดี และสินทรัพย์ที่ไม่ปลอดภัย กระแสเงินจะไหลเข้าไปแบบผิดปกติคล้ายกับภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์บางประเภท โดยในไทยเคยเกิดขึ้นแล้วในช่วง 2-3 ปีที่แล้ว จากเหตุการณ์ช่วงอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดจาก 2% มาเหลือ 1.50% ส่งผลให้เงินไหลเข้าไปในตั๋ว B/E และหุ้นกู้ เป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าเข้าไปลงทุนแล้วบริษัทเหล่านั้นเกิดผิดนัดชำระหนี้ น่าจะเห็นปัญหาตามมา

"ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยต่ำ เงินเฟ้อต่ำ มาพร้อมกับเศรษฐกิจซบเซา ทำให้ประชาชนหาผลตอบแทนยากขึ้น ทำให้ประชาชนอาจมีความเสี่ยงต้องไปเจอกับแชร์ลูกโซ่ เช่นคดีดังอย่างแชร์แม่มณี หรือ แชร์ FOREX-3D ซึ่งน่าจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับประชาชนมากขึ้น ซึ่งมีความเป็นห่วงว่าปัญหาจะบานปลายไปมากกว่านี้"

https://youtu.be/dL2YTOSlea8


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ