(เพิ่มเติม) ครม.เห็นชอบกองทุนเพื่อการออมระยะยาวรูปแบบใหม่ (SSF) แทน LTF พร้อมปรับเกณฑ์ RMF

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 3, 2019 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอเปลี่ยนแปลงรูปแบบกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะครบกำหนดภายในปี 62 นี้ เป็นกองทุนเพื่อการออมระยะยาวรูปแบบใหม่ หรือ Super Savings Fund (SSF) กำหนดระยะเวลาการถือครอง 10 ปี จากเดิม 7 ปี โดยสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มขึ้นเป็น 30% (จากเดิม 15%) แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท

แต่เมื่อรวมกับวงเงินลดหย่อนจากกองทุนอื่น ซึ่งได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเกษียณอายุ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเงินจ่ายเบี้ยประกันชีวิตสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วจะต้องไม่เกิน 5 แสนบาทในแต่ละปีภาษี

"ในกองทุนเพื่อการออมระยะยาว (SSF) ให้สิทธิลดหย่อนไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 2 แสนบาทในปีภาษีนั้น และเมื่อไปรวมกับการออมสำหรับกองทุนอื่นเพื่อการเกษียณแล้วจะต้องไม่เกิน 5 แสนบาทในแต่ละปีภาษี ส่วนระยะเวลาในการถือครองเพิ่มเป็น 10 ปี" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

กองทุน SSF สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท ผู้ซื้อสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ โดยไม่กำหนดจำนวนซื้อขั้นต่ำ ไม่กำหนดเงื่อนไขการซื้อต่อเนื่อง และเงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน SSF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหากปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด

ทั้งนี้ สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF ได้ 5 ปี (2563 - 2567) โดยกระทรวงการคลังจะประเมินผลของมาตรการเพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับการกำหนดให้ลดหย่อนภาษีสูงสุด 30% ของรายได้พึ่งประเมิน สอดคล้องกับอัตราการให้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับเงินสะสมเข้ากองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มอัตราเงินสะสมของสมาชิกจาก 15% เป็น 30% ของเงินเดือน และร่างกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งกำหนดอัตราเงินสะสมของสมาชิกในร่างกฎหมายไว้ที่ 30% ของค่าจ้าง

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของกองทุนรวมเพื่อการเกษียณอายุ (RMF) โดยให้สามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มขึ้นเป็น 30% จากเดิม 15% และยกเลิกการกำหนดขั้นต่ำของการซื้อกองทุน RMF จากเดิมต้องซื้อไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้พึงประเมิน หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อยสามารถซื้อกองทุน RMF ได้ โดยยังคงกำหนดให้ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี และไม่ระงับการซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกันเช่นเดิม

รวมทั้งยังคงกำหนดวงเงินหักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ (กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนออมได้มากขึ้น

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ระบุว่า ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการออมระยะยาว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุน SSF) และปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุน RMF เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้น ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะมุ่งเน้นให้กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อยและผู้ที่เริ่มต้นวัยทำงานได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการจูงใจให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวเริ่มต้นการออมระยะยาวโดยเร็ว

นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังมุ่งหวังให้ประชาชนทุกกลุ่มมีวินัยการออม เริ่มต้นออมระยะยาวตั้งแต่เข้าสู่วัยทำงาน และรู้จักวางแผนทางการเงิน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางรายได้เมื่อพ้นวัยทำงาน

ส่วนการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund) หรือ LTF ซึ่งจะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 62 นั้น นักลงทุนจะยังคงสามารถซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน LTF ได้ และแม้ว่าจะไม่ได้รับการลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 เป็นต้นไป แต่กระทรวงการคลังได้เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้ที่ถือหน่วยลงทุนได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุน LTF เช่นเดียวกับกองทุนรวมอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ประมาณการว่า จากการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน SSF และปรับปรุงหลักเกณฑ์ของ RMF จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณปีละ 14,000 ล้านบาท ขณะที่ประโยชน์ที่จะได้รับคือ การออมระยะยาวของประชาชนจะเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ