คลัง เตรียมประชุมซักซ้อมความเข้าใจแนวทางปฎิบัติการบังคับใช้-จัดเก็บภาษีที่ดินทุกฝ่าย 20 ธ.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 17, 2019 10:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษีทรัพย์สินแบบใหม่ที่จะเริ่มนำมาใช้ในปี 2563 เป็นปีแรก กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลภาษีที่ดินฯ ได้เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้กระบวนการจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระทรวงการคลังจะได้หารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยาและ อปท. ต่าง ๆ ในวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2562 นี้ เพื่อซักซ้อมความรู้ความเข้าใจและแนวทางในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมทั้ง จะได้เร่งประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจทราบโดยทั่วกันโดยเร็วต่อไป

ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายนั้น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เริ่มบังคับใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 13 มี.ค.62 โดยกำหนดวันเริ่มการจัดเก็บภาษี คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค.63 เป็นต้นไป แทนการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ถูกยกเลิกไป ผู้เสียภาษี ได้แก่ ผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างทุกคน ณ วันที่ 1 ม.ค.63

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศขยายระยะเวลาการดำเนินการให้แก่เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องตามปฏิบัติงานขั้นตอนจัดเก็บภาษี เพื่อให้มีเวลาทำงานมากขึ้นสำหรับปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ เท่านั้น เช่น เลื่อนการแจ้งประเมินภาษี จากเดือนก.พ.เป็นภายในเดือนมิ.ย. และเลื่อนกำหนดเวลาการชำระภาษี จากเดือนเม.ย.เป็นเดือนส.ค. เป็นต้น อันเป็นประโยชน์ต่อผู้เสียภาษีอีกทางหนึ่ง

สำหรับสาระสำคัญของภาษีที่ดินฯ เป็นการเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถือครอง โดยอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บ จะดูจากการใช้ประโยชน์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยอัตราภาษี 4 ประเภท ได้แก่ 1. เกษตรกรรม 2. อยู่อาศัย 3. อื่นๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกรรมและอยู่อาศัย และ 4. รกร้างว่างเปล่า ซึ่งผู้เสียภาษีจะต้องเสียภาษีทุกปี และต้องชำระภายในเดือนเม.ย.ของปีนั้นๆ เช่นเดียวกับการชำระภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินซึ่งถูกยกเลิกไป (ยกเว้นปี 2563 สามารถชำระภาษีได้ถึงเดือนส.ค.)

การหามูลค่าของ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมทั้งห้องชุด ให้นำราคาประเมินทุนทรัพย์ (ราคาประเมินฯ) ของกรมธนารักษ์มาใช้คำนวณ และสำหรับปี 2563 นี้ให้นำบัญชีราคาประเมินฯ ปี 2559 - 2562 มาใช้ ทั้งนี้ ภาษีที่ดินฯ เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา (ไม่รวมองค์การบริหารส่วนจังหวัด) เพื่อนำไปใช้พัฒนาท้องถิ่น

ปลัดกระทรวงการคลัง ยังกล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาษีที่ดินฯ ด้วยว่า ประเด็นแรก การประกอบเกษตรกรรม มีการบรรเทาภาระภาษีให้แก่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ใช้ทำประโยชน์เกษตรกรรม จะได้รับยกเว้นภาษีในปี 2563-2565 และตั้งแต่ปี 2566 จะได้รับการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในแต่ละ อปท. รวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท

ประเด็นที่สอง สำหรับที่อยู่อาศัย มีการบรรเทาภาระภาษีสำหรับบ้านหลังหลัก 1 หลัง ซึ่งบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่อในทะเบียนบ้านดังกล่าวในวันที่ 1 มกราคม ดังนี้ 1) กรณีมีชื่อเป็นเจ้าของทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือห้องชุด จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับมูลค่าที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือ 2) กรณีมีชื่อเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างอย่างเดียว (ปลูกสร้างบนที่ดินบุคคลอื่น) จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับสิ่งปลูกสร้างที่มูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท แล้วแต่กรณี สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่บุคคลธรรมดามีชื่อเป็นเจ้าของ แต่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและไม่ได้นำไปให้เช่า จะถือเป็นบ้านหลังอื่น ซึ่งต้องเสียภาษีตามปกติ

ในส่วนของการบรรเทาภาระภาษี ผู้ที่เคยเสียภาษีโรงรือนและที่ดินหรือภาษีบำรุงท้องที่ และต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมเนื่องจากกฎหมายนี้ จะได้บรรเทาภาระภาษีของส่วนต่างเมื่อเทียบกับภาษีที่เคยเสียในปี 2562 ดังนี้

  • ปีที่ 1: ภาษีเดิมปี 2562 + 25% ของส่วนต่าง
  • ปีที่ 2: ภาษีเดิมปี 2562 + 50% ของส่วนต่าง
  • ปีที่ 3: ภาษีเดิมปี 2562 + 75% ของส่วนต่าง

ทั้งนี้ ขั้นตอนที่ผู้เสียภาษีควรให้สำคัญเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มี 3 ขั้นตอน ดังนี้

1) ตรวจสอบบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า มีการระบุประเภท ขนาด และลักษณะการใช้ประโยชน์ว่าถูกต้องหรือไม่ หากผู้เสียภาษีพบว่า บัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของตนเองไม่ถูกต้อง สามารถยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อขอแก้ไขให้ถูกต้องได้

2) ตรวจสอบแบบประเมินภาษีที่ อปท. แจ้งประเมินภาษีแก่ผู้เสียภาษี โดยผู้เสียภาษีจะต้องตรวจสอบการประเมินภาษีดังกล่าวว่า ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์และอัตราภาษีตรงตามมูลค่าและการใช้ประโยชน์หรือไม่ รวมถึงการคำนวณภาษีว่าถูกต้องหรือไม่ หากผู้เสียภาษีพบว่า การประเมินภาษีไม่ถูกต้อง สามารถยื่นเรื่องคัดค้านและอุทธรณ์ตามกระบวนการต่อไป

3) ชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนด โดยกระทรวงมหาดไทยประกาศขยายเวลาในการชำระภาษี ให้สามารถชำระได้ภายในเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อจะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวมไปถึงอาจถูกระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ยังคงมีภาระภาษีค้างชำระอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ