"อุตตม-จุรินทร์" ประสานเสียงรัฐบาลยังมีเสถียรภาพ มั่นใจศก.ปีหน้ายังเติบโตดี เรียกความเชื่อมั่นต่างชาติหนุนลงทุนในไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 18, 2019 12:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยมีแรงส่งที่สำคัญจากการอุปโภคภายในประเทศที่ขยายตัวดีขึ้น โดยดูได้จากตัวเลขการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในเดือนต.ค. ที่ขยายตัว 6% จากที่ก่อนหน้านี้หดตัวต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าแม้เศรษฐกิจโลกอาจจะถดถอย แต่เศรษฐกิจไทยไม่ได้ถดถอยอย่างแน่นอน

"เศรษฐกิจโลกเป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันก็โดนกระทบ แต่เราไม่ได้ถดถอย เราแค่โตช้า ในขณะที่หลายประเทศในอาเซียนติดลบกัน แต่ไทยไม่ถึงขนาดนั้น เราแค่เติบโตช้าลง...ในไตรมาส 4 ปีนี้ เราเชื่อว่ามีแรงส่งต่อไปถึงปีหน้า แม้ความเสี่ยงจะยังมี แต่เราก็มีปัจจัยหนุน คือแรงส่งจากภายในประเทศ" รมว.คลังระบุ

พร้อมมองว่า 2 โจทย์ใหญ่ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ คือ การปฏิรูปประเทศ และผลกระทบที่ไทยได้รับจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งโจทย์ทั้ง 2 ข้อนี้มีความสัมพันธ์กัน ไม่สามารถแยกทำเฉพาะเรื่องได้ สิ่งสำคัญคือการที่ต้องร่วมมือกันในการปฏิรูปประเทศ มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ซึ่งต่างประเทศยังมีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลสามารถดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะขับเคลื่อนโดยเริ่มจากเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นภายในประเทศก่อน โดยจะใช้กลไกจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทั้งภาคเกษตร วิสาหกิจชุมชน และการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ก็มีสำคัญ ซึ่งปีหน้ารัฐบาลจะเดินหน้าลงทุนอย่างเข้มข้น จัดหาแหล่งเงินทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) โดยจะมีโครงการเข้าสู่กองทุน TFF เพิ่มมากขึ้นในปีหน้า ขณะเดียวกันจะดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการ PPP ให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ต่อยอดและใช้ประโยชน์จากโครงการ National e-Payment รวมถึง Big Data ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และเข้าถึงความต้องการของประชาชนในระดับฐานรากได้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้

รวมไปถึงการลงทุนเพื่ออนาคต ซึ่งเป็นการลงทุนในด้านของการศึกษา ให้ความรู้และทักษะใหม่ๆ ด้านสุขภาพอนามัย และด้านสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งปีหน้าในเดือนม.ค.63 กระทรวงการคลังจะเปิดให้มีการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ ขณะที่จะมีการทบทวนข้อมูลและสิทธิของกลุ่มผู้ถือบัตรรายเดิมให้เข้มข้นขึ้น

"ชุดมาตรการที่เราได้ออกมานั้น เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อช่วยในเรื่องของความเชื่อมั่น เป็นชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การหมุนเวียนภายในประเทศ...ปีหน้าเราจะพิจารณาตามสถานการณ์ แต่เราก็พร้อมที่จะมีมาตรการออกมา หากจำเป็น แต่โจทย์สำคัญ คือจะเร่งเดินหน้าปฏิรูปประเทศ สร้างความเชื่อมั่น สร้างความชัดเจน การลงทุนในภาวะเช่นนี้ เรายังสามารถทำได้ เราเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤติซับไพร์มมาแล้ว ประเทศเรายังรักษากรอบวินัยการเงินการคลังได้ดี ฐานะการเงินการคลังเรายังเข้มแข็ง" รมว.คลังระบุ

ทั้งนี้ รมว.คลัง ยังเรียกร้องให้คนไทยมีความเชื่อมั่นกันเองมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ต่างชาติยังให้ความสำคัญและมีความเชื่อมั่นว่าไทยสามารถดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ โดยเห็นได้จากการปรับอันกับเครดิตประเทศไทยของสถาบันจัดอันดับ 3 แห่ง ที่เลื่อนอันดับเครดิตให้ดีขึ้นจากในรอบหลายปี สะท้อนว่าต่างชาติเชื่อมั่นแนวทางการปฎิรูปประเทศของไทย

"ในการจัดอันดับ จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 3 แห่ง ทั้งมูดี้ส์ ฟิทช์ และ S&P ได้ปรับมุมมองของประเทศไทยดีขึ้นพร้อม ๆ กันในปีนี้ ซึ่งเป็นมุมมองที่ดีขึ้นในรอบหลายปี สะท้อนว่าต่างชาติยังเห็นว่าเราดี ยังดูแลเศรษฐกิจระยะสั้นได้ ต่างชาติเชื่อมั่น แล้วไทยเองเชื่อมั่นแค่ไหน ถ้ามีความเชื่อมั่น จะทำให้ประเทศไทยในปีหน้าเดินต่อได้" รมว.คลังกล่าว

สำหรับความคืบหน้าในเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษีนั้น นายอุตตม ระบุว่า กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างการทบทวนโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ซึ่งได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งจะมีการพิจารณาในภาพรวมเพื่อให้เกิดความสมดุลในแง่การจัดเก็บรายได้ เพราะรัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากในส่วนนี้

ขณะเดียวกัน การจัดเก็บภาษีจากธุรกิจออนไลน์นั้น กระทรวงการคลังได้ร่างกฎหมายแล้ว ซึ่งจะเน้นกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาแสวงหารายได้ในประเทศไทย โดยมั่นใจว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ โดยขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณาร่างกฎหมาย หากแล้วเสร็จก็จะสามารถเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่งไปยังขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

นายอุตตม ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังกล่าวถึงเสถียรภาพของรัฐบาล โดยยืนยันว่า การทำงานของรัฐบาลชุดนี้มีเป้าหมายที่ชัดเจน และเป็นการทำงานเพื่อสะท้อนให้ประชาชนเห็นว่าเป็นรัฐบาลที่พึ่งพิงได้ และมีความหวังในการแก้ปัญหาให้ประชาชน พร้อมยืนยันว่าแม้จะเป็นรัฐบาลที่มาจากต่างพรรค แต่ก็ไม่ใช่ต่างคนต่างทำงาน รัฐมนตรีทุกคนทำงานไปในทิศทางเดียวกัน

"การทำงานของรัฐบาลจะเป็นตัวสะท้อนให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลมีความมั่นคง มีเสถียรภาพ เป็นรัฐบาลที่เป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ มีความหวังในการแก้ปัญหา การปฏิรูปประเทศได้ การทำงานที่เข้าขากัน รัฐบาลก็ไปได้ เสถียรภาพก็มี เชื่อว่ารัฐบาลมีเสถียรภาพ" นายอุตตมระบุ

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยืนยันถึงความมีเสถียรภาพของรัฐบาลเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า การทำงานของรัฐบาลในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา รัฐมนตรีแต่ละคนรู้หน้าที่ มีการแบ่งงานกันรับผิดชอบ ไม่จำเป็นว่าเป็นรัฐบาลผสมแล้วจะต้องมีปัญหาในการทำงานเสมอไป

ทั้งนี้ เชื่อว่าเสถียรภาพของรัฐบาลไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเสียงข้างมากในสภาเสมอไป เพราะต้องขึ้นอยู่กับผลงานของรัฐบาลด้วย หากสามารถทำผลงานให้เป็นรูปธรรมตามที่แถลงนโยบายไว้ รัฐบาลก็จะมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง แม้จะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำก็ตาม

"เรื่องเสียงปริ่มน้ำ ถือเป็นปัจจัยรอง เพราะรัฐบาลยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ยังเป็นรัฐบาลที่ทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองได้...เราไม่มีปัญหาในการบริหารเศรษฐกิจ เพราะทุกคนต่างรู้เป้าหมาย ทำหน้าที่ในขอบเขตของตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อนำไปสู่จุดหมายเดียวกัน เมื่อไปสู่จุดหมายเดียวกัน คนที่จะได้ประโยชน์ก็คือประเทศชาติ และประชาชน" นายจุรินทร์ ระบุ

รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3% แนวโน้มเศรษฐกิจยังมีภาพที่เป็นบวก แม้จะยอมรับว่าปีหน้ายังมีหลายปัจจัยที่เป็นตัวกดดัน เช่น เศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว, ปัญหาสงครามการค้า และภาวะเงินบาทแข็งค่า แต่เชื่อว่ารัฐบาลภายใต้การบริหารงานของทีมเศรษฐกิจ จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้

นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงแผนการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ในปี 63 ว่า จะดำเนินการต่อเนื่องจากปีนี้ที่สามารถทำนโยบายประกันรายได้เกษตรในสินค้า 5 รายการได้สำเร็จไปแล้ว คือ ข้าว, มันสำปะหลัง, ปาล์มน้ำมัน, ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งปีหน้าจะเข้าไปดูแลสินค้าเกษตรชนิดอื่นเพิ่มเติมด้วย โดยจะเน้นในส่วนของสินค้าผลไม้ ซึ่งได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ของไทยที่ประจำอยู่ทั่วโลก ทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนขยายตลาดและเจาะตลาดสินค้าไทยในรายมณฑล และรายรัฐในรูปแบบที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งในปีหน้า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดเตรียมแผนงานบุกตลาดไว้ 16 ทริป 18 ประเทศ

พร้อมระบุว่า กระทรวงพาณิชย์จะปรับรูปแบบการบริหารจัดการส่งออกในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ปกติ โดยทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ผลักดันให้เอกชนเป็นทัพหน้า ส่วนกระทรวงพาณิชย์เป็นทัพหนุน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนของกระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ขึ้น และตั้งวอร์รูมเพื่อดูแลสินค้าเป็นรายตัว รวมทั้งใช้กลไกของทูตพาณิชย์ให้มีบทบาทในการทำหน้าที่มากขึ้น

"ตอนนี้ เราจะบริหารการส่งออกแบบในภาวะปกติไม่ได้ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว มีปัญหาสงครามการค้า และเงินบาทแข็งค่า เราต้องปรับรูปแบบ และใช้ยาแรงหลายขนานมากขึ้น ต้องยอมรับว่ารัฐบาลคงไม่สามารถเป็นพระเอกได้แล้ว ต้องให้เอกชนเป็นทัพหน้า กระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่เป็นทัพหนุน ส่งเสริม และผลักดันภาคเอกชนในเรื่องต่างๆ" นายจุรินทร์กล่าว

นอกจากนั้น ในปีหน้ากระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนที่จะผลักดันสินค้าไทยระดับพรีเมียมไปจำหน่ายบนเว็บไซต์ระดับยักษ์ใหญ่ของต่างประเทศ เช่น Big Basket ของอินเดีย, PC Home ของไต้หวัน, Amazon ของสหรัฐ และ PrestoMall ของมาเลเซีย เป็นต้น รวมทั้งการเจรจาข้อตกลงเสรีการค้า (FTA) กับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น ไมว่าจะเป็น FTA ไทย-สหภาพยุโรป, FTA ไทย-สหราชอาณาจักร ตลอดจนเร่งเดินหน้าเจรจา FTA กับประเทศที่ยังค้างอยู่ให้เสร็จโดยเร็วด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ