นักเศรษฐศาสตร์ เห็นพ้องศก.ไทยปี 63 โตแบบช้าๆ บริโภคยังอ่อนแอ หนี้ครัวเรือนถ่วง ได้ใช้จ่ายภาครัฐพยุง ลุ้นส่งออกฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 23, 2019 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกียรติพงษ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก เปิดเผยในงานสัมมนา Thailand Economic outlook 2020 อนาคตเศรษฐกิจไทย ภายใต้หัวข้อ ล้วงลึก...เศรษฐกิจไทย 2020 ฟื้นหรือฟุบ ว่า ธนาคารโลกมีการประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (GDP) ในปี 63 จะเติบโตได้เล็กน้อยที่ 2.8% จากปีนี้คาดจะอยู่ที่ 2.6% โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้น่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว และน่าจะฟื้นตัวขึ้นได้ในปีข้างหน้า จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนา (Emerging Market) เป็นหลัก ขณะที่ประเทศสหรัฐฯ คาดว่าในปีหน้าจะไม่ได้เติบโตเต็มศักยภาพ เห็นได้จากภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลง รวมถึงให้จับตาเศรษฐกิจประเทศจีน ที่คาดจะชะลอตัวลง หรือเติบโตไม่ถึง 6% เหมือนในอดีต จากข้อจำกัดและปัจจัยเชิงโครงสร้าง หรือความไม่เท่าเทียมกันในแง่ของรายได้ในสังคม

ทั้งนี้นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว ปัจจัยภายในประเทศ ยังเผชิญกับการบริโภคที่เริ่มอ่อนแอ จากภาระหนี้ที่สูงขึ้น และการลงทุนที่อ่อนแอมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความท้าทายการเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจไทย แต่อย่างไรก็ตามก็สะท้อนถึงโอกาสเช่นกัน ในกลุ่มธุรกิจที่ไม่ค่อยมีการลงทุน เช่น ภาคบริการ ก็ต้องเน้นลงทุนมากขึ้น, การลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวดีขึ้นในปีหน้า โดยเฉพาะการกระจายเงินไปสู่คนจนอย่างทั่วถึง ก็จะช่วยประคับประคองคนจนให้มีรายได้ กระตุ้นรายจ่าย และการรองรับเศรษฐกิจสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงโอกาสด้านการศึกษา เพื่อยกระดับในเรื่องของต้นทุนมนุษย์

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า มองเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเติบโต 2.7% ในลักษณะฟื้นตัวอย่างช้าๆ เป็นผลกระทบมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ส่งผลต่อภาคส่งออกของไทยปรับตัวลง โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะเห็นการ bottom และกลับมาเป็นบวกได้ในครึ่งปีหลังของปีหน้า

นอกจากนี้การพึ่งพาสินเชื่อของประชาชนอยู่ในระดับที่ลดลง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีการคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ โดยสินเชื่อที่ปรับตัวลงอย่างเห็นได้ชัด คือ สินเชื่อรถยนต์ ที่ปัจจุบันติดลบ 4% และคาดว่าปีหน้าจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง, สินเชื่อบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้บ้าน และคอนโดมิเนียม ปัจจุบันติดลบรวมกันถึง 45% และคาดในปีหน้าก็จะติดลบต่อ รวมถึงประเทศไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะในเรื่องของจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น, คนไทยทำงานลดลงต่อเนื่อง ส่งผลทำให้รายได้ครัวเรือนลดลง และภาคธุรกิจไทย กระจุกตัวมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SME อยู่ยากขึ้น

พร้อมกันนี้การท่องเที่ยวในปีหน้าคาดว่าจะชะลอตัวลง มาอยู่ 3.7% หรือคิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 41.3 ล้านคน จากปีนี้คาดเติบโต 4.3% เป็นผลมาจากนักท่องเที่ยวที่ลดลง จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากประเทศอื่นๆ ก็มีการดึงดูดนักท่องเที่ยวเช่นกัน และยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายต่อคนลดลงตามไปด้วย

แต่อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายภาครัฐในปี 63 จะทำได้ดีขึ้น จากงบประมาณแผนดินที่ล่าช้าในปีนี้ จะส่งผลดีในปีหน้า โดยคาดการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ จะเติบโตได้ 9% ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในเชิงการโอนเงินไปให้ประชาชน ผ่านบัตรคนจน เป็นต้น ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

"แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นโรค อยู่ 3 โรคด้วยกันคือ ติดไข้หวัดจากเพื่อนบ้าน หรือได้รับผลกระทบสงครามการค้าฯ, ติดสเตียรอยด์ หรือการพึ่งพาสินเชื่อลดลง จากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และร่างกายอ่อนแอ ไม่สมดุล จากปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่เราไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจไทยจะถึงขั้นโคม่า สิ่งเหล่านี้แก้ได้ จากการปรับพฤติกรรม หรือการปฎิรูปอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องของจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และการให้ความรู้กับ SME ในการปรับตัวในยุคดิจิตอล"

นายยรรยง กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้า แต่ไม่ได้ถึงขั้นวิกฤต ยังมีโอกาสอยู่ข้างหน้า เช่น ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่า ยังมีโอกาสในการ diversify ขยายความมั่งคั่งไปยังต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศของคนไทยยังน้อย โดยปัจจุบันทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างเตรียมออกมาตรการสนับสนุนให้คนไทยนำเงินไปลงทุนต่างประเทศอย่างเสรีมากขึ้นผ่านสถาบันและลงทุนโดยตรง

นางกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ภาพของเศรษฐกิจไทยในปี 63 ยังมองเป็นภาพของการเติบโตอย่างช้า และมีการกระจุกตัว ซึ่งแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 63 ยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้มากกว่าปีนี้ที่เติบโต 2.5-2.6% แต่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆมาอยู่ที่ 2.5-3% ซึ่งยังเป็นการเติบโตที่ไม่เป็นไปตามศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่ 3.5-4% โดยที่ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกยังเป็นปัจจัยกดดันที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ที่กระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมาก หลังจากที่เศรษฐกิจและการค้าโลกเกิดการชะลอตัว ทำให้ภาคการส่งออกของไทยในปีนี้ติดลบ 3-4% ส่วนในปีหน้ามองว่าอาจจะไม่เติบโต หากสงครามการค้ายังไม่มีความแน่นอนออกมาให้เห็น

โดยปัจจัยสงครามการค้าที่เกิดขึ้นมีผลทำให้เศรษฐกิจจีนเกิดการชะลอตัวขึ้น ทำให้เศรษฐกิจจีนในปีนี้เติบโตได้ต่ำกว่า 6% ส่วนในปีหน้าจะกลับมาเติบโตได้ 6% ซึ่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆชะลอตัวลง ซึ่งจีนถือเป็นประเทศศที่มีจำนวนประชากรสูง และมีการบริโภคสินค้าและบริการ รวมถึงความต้องการใช้วัตถุดิบในการผลิตต่างๆลดลง ทำให้การส่งออกไปจีนได้รับผลกระทบมากกับประเทศคู่ค้า ประกอบกับกลุ่มลูกค้าชาวจีนก็มีการชะลอการซื้อสินทรัพย์หรือการเดินทางมาท่องเที่ยวในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยหนุนในปีหน้าที่หวังจากการท่องเที่ยวที่ยังเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจผ่านการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆและการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไนระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งต่องรอดูว่าปีหน้าภาครัฐจะใช้เงินในการดำเนินมาตรการและการลงทุนต่างๆไม่น้อยกว่า 1% ของ GDP มากกว่าหรือใกล้เคียงกับปีนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจยังสามารถเติบโตได้ในระดับ 2.5-3%

ขณะเดียวกันโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยยังต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่บ้าง โดยเฉพาะการกระจายรายได้ที่ปัจจุบันยังกระจุกอยู่ในผู้ประกอบการรายใหญ่ จะต้องมีการกระจายไปยังผู้ประกอบการท้องถิ่นและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มากขึ้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆสามารถดำเนินธุรกิจและมีรายได้มากขึ้น และทำให้รายได้กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน พร้อมกับหาโอกาสใหม่ๆที่สร้างแรงหนุนให้กับเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสกลับมาเติบโตได้ตามศักยภาพ

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้างานวิจัยลูกค้าบุคคล บล.ภัทร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่ท้าทายในปี 63 จากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว และยังต้องติดตามการเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งปัจจัยของสงครามการค้ากระทบต่อการค้าของโลกมาก ทำให้เห็นถึงภาพการชะลอตัวของการค้าโลกในปีนี้อย่างชัดเจน และกระทบมาถึงการส่งออกของไทยที่ติดลบในปีนี้ แต่มองว่าจะผ่านจุดต่ำสุดไนปีนี้ไปและปีหน้ามีโอกาสที่การส่งออกไทยจะฟื้นตัวขึ้นกลับมาเติบโตได้ 1% หากการค้าโลกกลับมาฟื้นตัว

ขณะที่ความเสี่ยงจากในประเทศยังคงเผชิญอยู่นั้นยังคงเป็นเรื่องรายได้ของเกษตรกรที่ตกต่ำ ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรลดลง หนี้สินครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และการจ้างงานในภาคการผลิตที่ลดลง ซึ่งทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลงตาม กระทบต่อการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว ทำให้ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศไม่สามารถทำได้เต็มที่ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ แต่ยังมีภาคการท่องเที่ยวที่ยังพยุงเศรษฐกิจไทยให้เติบโตขึ้นได้

อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงในประเทศที่ต้องติดตามเป็นเรื่องของปัจจัยทางการเมืองว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ประกอบการการพิจารณางบประมาณประจำปี 63 ที่ล่าช้าไปต้นปีหน้าจะสามารถอนุมัติได้หรือไม่ เพราะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความมั่นใจในการลงทุน รวมไปถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากนโยบายของภาครัฐที่การลงทุนต่างๆยังต้องการงบประมาณประจำปี 63 ผ่านการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน ทำให้การลงทุนของภาครัฐเกิดความล่าช้าไป ซึ่งหากการเมืองไม่มีเสถียรภาพก็อาจส่งกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย และในปี 63 มองเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.8% สูงขึ้นจากปีนี้ที่เติบโต 2.5-2.6%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ