KBANK มองโอกาส กนง.ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินหลังเห็นความเสี่ยงเงินเฟ้อทรงตัวต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 25, 2019 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ระบุว่า การลดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 63 ของไทยลงสะท้อนว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำชัดเจนมากขึ้น และอาจเป็นสัญญาณว่า กนง.จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเพื่อความเหมาะสมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพราคาของไทยมากขึ้น

ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยลดลงทุกช่วงอายุอัตราฯ อายุ 2 ปีลดลง 1 bps มาอยู่ที่ระดับ 1.19% และอัตราฯ อายุ 10 ปี ลดลง 4 bps มาอยู่ที่ระดับ 1.51% ตามการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะข้างหน้าที่น้อยลง ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินประจำปี 63 โดยกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% โดยไม่มีค่ากลาง

"ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2558 ที่กระทรวงการการคลังและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นไปลงมาอยู่ที่ 1-3% จากเดิมที่มีค่ากลาง 2.5% บวกลบ 1.5%" เอกสารธนาคารกสิกรไทย ระบุ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีความสำคัญในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของไทย คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยภายหลังจากสหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 พร้อมทั้งเลื่อนการกำหนดภาษีนำเข้าในเดือนธันวาคมออกไปแบบไม่มีกำหนด และการลดอัตราภาษีนำเข้าที่กำหนดตั้งแต่เดือนกันยายนลงครึ่งหนึ่ง รวมถึงการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐหลังจากที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีผลบังคับใช้

KBANK ระบุว่าเงินเฟ้อไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อไทยส่วนใหญ่อยู่ต่ำกว่าขอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ มีเพียงปี 61 เท่านั้นที่ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั้งปีสูงกว่าขอบล่างที่ 1.34% ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงมากนับตั้งแต่ปลายปี 57 เนื่องจากต้นทุนการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ลดลงและปริมาณการผลิตน้ำมันหินดินดาน (Shale oil) ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้ราคาน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม และค่าใชจ่ายด้านสาธารณูปโภค ลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม มีหลายปัจจัยเชิงโครงสร้างที่คาดว่าจะกดดันเงินเฟ้อไทยต่อไป ไทยคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุในปี 64 ส่งผลให้จำนวนแรงงานของไทยมีแนวโน้มลดลงและทำให้พฤติกรรมการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนไป คือ การใช้จ่ายจะลดลง ทำให้การหมุนเวียนของเงินในระบบช้าลง ประกอบกับนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการผลิตดีขึ้นและการกระจายข้อมูลเท่าเทียมมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงและการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้นได้ยาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ