"อุตตม" มอบนโยบายผู้บริหารคลัง เร่ง 5 ภารกิจ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ-เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 6, 2020 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงการคลัง ครั้งที่ 1/2563 ว่า เป้าหมายหลักของกระทรวงการคลังในปีนี้ คือ บทบาทในการช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ เพราะถือเป็นเรื่องบั่นทอนและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านยุทธศาสตร์การปฏิรูปโครงสร้างประเทศ ภายใต้ภารกิจสำคัญ ประกอบด้วย 1.การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยได้มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน เป็นหลักในการพัฒนาแนวคิด หรือโมเดลการทำงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

2.การสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ โดยในวันที่ 7 ม.ค.63 จะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบมาตรการในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีวงเงิน 1 แสนล้านบาท 3.การขับเคลื่อนการลงทุนของภาครัฐ และการส่งเสริมให้เอกชนลงทุน ซึ่งถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนและปฏิรูปประเทศและเศรษฐกิจ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เร่งติดตามแผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ให้เริ่มดำเนินการโดยเร็ว และทำทันที

4.การปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัลผ่านโครงการ MOF GO Digital โดยจะมีแผนการดำเนินงานด้านระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นการต่อยอดโครงการ National e-payment ที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เพื่อให้การใช้งานในระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์เกิดประโยชน์กับประชาชนและภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น รวมถึงจะมีการจัดทำเรื่อง Big Data โดยการนำข้อมูลจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการชิมช้อปใช้ทั้งหมดมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและการให้บริการประชาชนอย่างตรงจุด โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลัง ทบทวนคณะทำงานด้าน Big Data ให้ขยายขอบเขตการทำงานให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานกระทรวงการคลังผ่านระบบบล็อกเชน

และ 5.การจัดทำสวัสดิการรัฐ มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษาและสรุปเกี่ยวกับการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้เร็ว ๆ นี้ รวมทั้งจะมีการกำหนดรูปแบบสวัสดิการใหม่ที่จะเพิ่มเข้าไปในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะให้มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อดูแลการดำเนินการเรื่องสวัสดิการแห่งรัฐที่กระทรวงการคลังเกี่ยวข้องเป็นการเฉพาะ

อย่างไรก็ดีในส่วนปัญหาภัยแล้งนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญอย่างมากในปีนี้ โดยได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ในการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมมีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือ ทั้งมาตรการด้านสินเชื่อ และการผ่อนคลายเงินกู้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ