(เพิ่มเติม) กกร.คาด GDP ไทยปี 62 โตเพียง 2.5% ส่งออก -2.5% ส่วนปี 63 GDP โต 2.5-3% ท่ามกลางปัจจัยกดดันต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 8, 2020 14:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) กกร.คาด GDP ไทยปี 62 โตเพียง 2.5% ส่งออก -2.5% ส่วนปี 63 GDP โต 2.5-3% ท่ามกลางปัจจัยกดดันต่อเนื่อง

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 62 จะขยายตัวได้เพียง 2.5% ลดลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.7-3.0% รวมทั้งปรับลดมูลค่าการส่งออกไทยในปีนี้ลงเหลือ -2.5% จากเดิมที่คาดไว้ -2 ถึง 0% ขณะที่เงินเฟ้อทั้งปี 62 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.7% จากเดิมคาด 0.8-1.2%

ทั้งนี้ กกร.เห็นว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในปี 62 ยังสะท้อนการชะลอตัว โดยการส่งออกหดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้การนำเข้า การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนภาคเอกชนหดตัวเช่นกัน ด้านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง แม้มีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงไว้บางส่วน ขณะที่มีเพียงการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากแรงหนุนมาตรการ Visa on Arrivals

สำหรับในปี 63 กกร.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.5-3.0% โดยเศรษฐกิจไทยยังอยู่ท่ามกลางหลายปัจจัยกดดันที่ต่อเนื่องมาจากปี 62 ทั้งผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและความผันผวนของค่าเงิน รวมทั้งมีปัจจัยลบเพิ่มเติม คือ ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางกรณีสหรัฐและอิหร่าน ที่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ อาจผลักดันให้ราคาน้ำมันยืนอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ภาวะภัยแล้งรุนแรง จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตและกำลังซื้อ

"ทิศทางราคาน้ำมัน และราคาอาหารสดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของทางการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เผชิญข้อจำกัดมากขึ้น" นายกลินท์ ระบุ
นายกลินทร์ กล่าวว่า จากปัจจัยลบต่างๆ กกร. ต้องการให้ภาครัฐเร่งรัดการบังคับใช้และการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็ควรเตรียมแผนรับมือฉุกเฉินจากปัญหาภัยแล้งและเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ การดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไม่ให้กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะไม่เพียงจะมีผลต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ยังเชื่อมโยงถึงภาคการผลิตและการจ้างงานอีกด้วย ส่วนโอกาสของประเทศไทยต้องสร้างบรรยากาศให้ดีเน้นเรื่องความมั่นคงและปลอดภัย โดยเรายังศักยภาพด้านการท่องเที่ยว รวมถึงเป็นศูนย์กลางอาหารในภูมิภาค

พร้อมกันนี้ กกร. มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐดำเนินการดังนี้ 1. ลดค่าใช้จ่าย แบ่งเป็น

  • ลดค่าไฟ ให้เฉพาะธุรกิจ SMEs และบ้านพัก ลงมา 5% เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจทั้งหมด
  • เร่งรัดการคืนภาษี VAT ให้รวดเร็วภายในเวลา 30 วัน
  • การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรใหม่เพื่อการผลิตซึ่งประเทศไทยผลิตเองไม่ได้ ลงเหลือ 0% เป็นระยะเวลา 1 ปี
  • ลดการจ่ายเงินประกันสังคมของผู้ประกันสังคม ทั้งลูกจ้าง และนายจ้าง ลง 50% เป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการ
  • ลดค่าธรรมเนียบการโอนเงินและค่าการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้เป็น 0.01% เป็นระยะเวลา 1 ปี

2. เสนอให้มีการขุดบ่อกักเก็บน้ำในรูปแบบของแก้มลิงในแต่ละหมู่บ้าน (ประมาณ 70,000 หมู่บ้าน) เพื่อช่วยแก้วิกฤติภัยแล้งในระยะยาว โดยใช้แรงงานในท้องถิ่น ทั้งนี้ หากภาครัฐสามารถจัดสรรพื้นที่ราชพัสดุที่เหมาะสมในการขุดบ่อได้ ก็จะช่วยลดเวลาในการเวนคืนได้มาก

3. แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค นอกเหนือจากการพัฒนาเขต EEC เช่น ภาคเหนือ (NEC) จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหาร และ Creative Economy ภาคอีสาน(NEEC) ศูนย์กลางการท่องเที่ยว อาหาร และ Logistics hub ภาคใต้ (SEC) พัฒนา ให้เป็นเมืองอัจฉริยะและท่องเที่ยว รวมถึงอุตสาหกรรมฮาลาล เป็นต้น

4. ให้ กกร. เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพื่อปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้คล่องตัวมากขึ้น และสนับสนุนสินค้าไทยมากขึ้น

ขณะที่ปัจจัยบวกในปีนี้ นายกลินทร์ กล่าวว่า ได้แก่ การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การท่องเที่ยว การค้าชายแดน ส่วนผลกระทบจากปัญหาความตึงเครียดในตะวันออกกลางนั้นน่าจะเป็นเรื่องราคาพลังงาน และเห็นด้วยที่ภาครัฐจัดทำโครงการ "Walking Street" ทั่วประเทศที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่หากสามารถดูแลเรื่องความสงบภายในประเทศไว้ได้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ สำหรับการส่งออกนั้นคงต้องเร่งขยายตลาดใหม่เพิ่มเติม

ส่วนสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ส่งผลดีต่อการส่งออก ซึ่งหากอยู่ในระดับ 30.00-31.00 บาท/ดอลลาร์จะมีความเหมาะสม แต่เชื่อว่าเงินบาทอ่อนค่าอาจเป็นภาวะชั่วคราว เพราะประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานที่มีสัดส่วนถึง 11% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ