บสย. เดินหน้ามาตรการ"ต่อเติม เสริมทุน SMEs" มั่นใจเติมทุนสู่ระบบ 1.8 แสนลบ. ต่อลมหายใจกว่า 1.4 แสนราย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 8, 2020 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บสย. เดินหน้ามาตรการ

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บสย. พร้อมดำเนินการมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยให้ บสย. เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อให้มากขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการ "ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย" บสย.จะมุ่งเน้นการส่งเสริม สนับสนุน ปลดล็อก และเติมทุน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ก้าวข้ามความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดย บสย.ได้ปรับเงื่อนไขการค้ำประกัน เพื่อให้สถาบันการเงินได้เร่งปล่อยสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ SMEs ได้คล่องตัวขึ้น ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. รวมถึงการขยายระยะเวลาการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการเดิม (โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 5 - ระยะที่ 7) ออกไปอีก 5 ปี โดยได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs 2 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มผู้ประกอบการที่กำลังประสบปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ ประกอบด้วย

  • โครงการค้ำประกัน บสย. SMEs สร้างไทย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 60,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ จำนวน 84,000 ราย ค้ำประกันสูงสุด 10 ปี โดยฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปี
  • ขยายระยะเวลาการค้ำประกัน โครงการ PGS ระยะที่ 5, ระยะที่ 6 และระยะที่ 7 ไปอีก 5 ปี ช่วยผู้ประกอบการ SMEs 28,000 ราย โดยยังได้รับวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน กว่า 70,000 ล้านบาท

2. กลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการเสริมสภาพคล่อง (ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8) ประกอบด้วย

  • โครงการค้ำประกันสินเชื่อ "บสย. D ยกกำลังสาม" (บสย. D3) จำนวน 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 10 ปี ช่วยผู้ประกอบการ SMEs กว่า 10,000 ราย
  • โครงการค้ำประกันอื่น ๆ ภายใต้โครงการ PGS8 จำนวน 40,000 ล้านบาท ระยะเวลาสูงสุด 10 ปี ช่วยผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 20,000 ราย
ทั้งนี้ มติ ครม.เห็นชอบให้ บสย.สามารถขยายขอบข่ายการค้ำประกันสินเชื่อให้ครอบคลุมธุรกรรมเช่าซื้อ ลิสซิ่ง และแฟคเตอริ่ง และโครงการ Direct Guarantee หรือ DG สนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มที่มีศักยภาพ วงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท ค้ำประกันสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน โดย บสย.เป็นผู้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามระดับความเสี่ยงของลูกค้า (Risk Based Pricing) ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี โดย บสย.จะเริ่มดำเนินการทันที เพื่อขยายโอกาสการให้ความช่วยเหลือไปยังกลุ่มผู้ประกอบการให้มากที่สุด
"มาตรการเหล่านี้ เป็นมาตรการเร่งด่วนที่ บสย.ให้ความสำคัญ และพร้อมดำเนินการทันที ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยเสริมสภาพคล่องสู่ภาคธุรกิจ ปลดล็อคให้ผู้ประกอบการ SMEs โดยปรับเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นขึ้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และยังช่วยเหลือผู้ประกอบการไม่ให้ถูกฟ้องดำเนินคดีอีกด้วย" นายรักษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ