รมว.พลังงาน เตรียมเปิดรับฟัง 4 แผนหลักด้านพลังงาน 18 ก.พ.นี้ ชูแผนโรงไฟฟ้าชุมชนดันเศรษฐกิจฐานรากแข็งแกร่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 14, 2020 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมจัดรับฟังความคิดเห็น 4 แผนหลักด้านพลังงานในวันที่ 18 ก.พ.นี้ โดยทั้ง 4 แผนหลักที่ปรับปรุงแล้วเสร็จ ประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) , แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 (AEDP2018) , แผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ (EEP) , แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) ส่วนแผนหลักอีก 1 ฉบับคือ แผนบริหารจัดการน้ำมัน (Oil Plan) นั้น ยังอยู่ระหว่างทบทวน เนื่องจากมีการปรับตัวเลขหลังประกาศนโยบายให้น้ำมันไบโอดีเซล B10 และแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ

สำหรับแผนหลักทั้ง 4 แผนจะครอบคลุมนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งต่อเศรษฐกิจฐานราก และยังยึดความมั่นคงด้านพลังงาน ราคาที่เป็นธรรม

ส่วนนโยบายที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท. (PTT) ไปพิจารณาเรื่องชะลอการใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย และเมียนมานั้น ด้วยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาถูกในช่วงนี้เข้ามาทดแทนนั้น ยังรอการวิเคราะห์จากทุกฝ่ายว่าว่าจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไรบ้าง และจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซฯด้วยหรือไม่ โดยคงต้องรอดูภาพรวมว่าทำได้ หรือไม่อย่างไร แต่เบื้องต้นเห็นว่าหากทำได้ก็ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำลง และสามารถเก็บก๊าซฯในประเทศที่เป็นก๊าซฯเปียกไว้เป็นต้นทุนสำหรับการผลิตปิโตรเคมีต่อเนื่องได้ยาวนานมากขึ้น

นายสนธิรัตน์ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมแหล่งปิโตรเลียม "เอราวัณ" ในอ่าวไทย ซึ่งขณะนี้ดูแลโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และจะหมดอายุสัมปทาน เดือนเม.ย.65 และจะเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต โดยมีบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ร่วมกับ มูบาดาลา จะเข้ามาดำเนินการต่อ โดยจะมีการประกาศแผนงานครั้งใหญ่อีกครั้ง

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่าตามแผน PDP2018 ปรับปรุงใหม่จะมีกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าชุมชนตลอดแผน 20 ปี ราว 1,900 เมกะวัตต์ (MW) มารวมด้วยจากแผนระยะที่ 1 ที่จะมีปริมาณ 700 เมกะวัตต์ ซึ่งแผนนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน แต่ก็ทำให้ ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงขึ้นทั้งแผนราว 10 สตางค์/หน่วย จากแผนเดิม ต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 3.59 บาท/หน่วย โดยสัดส่วนของเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า จะใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงเป็นหลัก เพิ่มจาก PDP2015 จากก๊าซฯมีสัดส่วน 37% เป็น 53% ความต้องการก๊าซฯของประเทศปลายปี 80 จะอยู่ที่ราว 5,300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เพิ่มจากปี 61 ที่อยู่ที่ 4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และจากการที่ก๊าซฯเมียนมา และอ่าวไทย ลดลง แต่มีการประมูลแหล่ง"บงกช-เอราวัณ" เสร็จสิ้นทำให้กำลังผลิตก๊าซฯจาก 2 แหล่งนี้อยู่ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันเพิ่มขึ้นจากแผน PDP2015 ก็ทำให้คาดการณ์ว่าการนำเข้า LNG จะลดลง จาก 34 ล้านตัน/ปี เหลือ 26 ล้านตัน/ปี โดยปริมาณนำเข้าอาจลดลงอีก หากไทยมีการเจรจากับกัมพูชา เพื่อร่วมมือในการผลิตปิโตรเลียมจากพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกันสำเร็จ

นอกจากนี้ ในการนำเข้า LNG จะวางแผนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานการนำเข้า ประกอบไปด้วย สถานนีนำเข้า LNG มาบตาพุด 11.5 ล้านตัน (ก่อสร้างเสร็จแล้ว ) ,สถานีหนองแฟบ 7.5 ล้านตัน (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ) , โครงการที่อยู่ในแผน อีก 2 แห่งได้แก่ สถานีรับจ่ายก๊าซลอยน้ำ (FSRU )โดย กฟผ. 5 ล้านตัน และ สถานีโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 รวมทั้งจะมีการสถานีนำเข้าแห่งใหม่ในภาคใต้อีก 5 ล้านตัน เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าในภาคใต้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า สถานีนำเข้า LNG นั้นจะมีมากกว่าความต้องการใช้ก๊าซฯของประเทศ ดังนั้น ตามนโยบายจึงอยู่ระหว่างการวางแผนจะมีการนำเข้า เพื่อการส่งออก LNG ตามนโยบาย LNG HUB ในภูมิภาคนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ