3 รมต.กางแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 21, 2020 12:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ"ส่องเศรษฐกิจผ่านโครงสร้างพื้นฐาน"ว่า ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ได้เปรียบเรื่องที่ตั้งที่เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน แต่ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยขาดการศึกษาและการวางแผนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยที่ในปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้เตรียมแผนการทำงานในการลงทุนต่างๆ เพื่อลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางคมนาคมได้สะดวกสบาย

ขณะเดียวกันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่จะเกิดขึ้น กระทรวงคมนาคมจะมีการกระจายการพัฒนาโครงการต่างๆให้ทั่วถึง และไม่ทับซ้อนกับโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อทำให้เกิดการกระจายตัวในด้านการคมนาคมให้ทั่วถึงในพื้นที่ต่างๆ ประกอบกับการเข้าไปเร่งแก้ปัญหาโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อลดผลกระทบของการจราจรในพื้นที่ที่มีการก่อสร้างเกิดการติดขัด และทำให้การก่อสร้างในโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงานที่กระทรวงคมนาคมวางเป้าหมายไว้

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการลงทุนในโครงการลงทุนด้านคมนาคมบางโครงการอาจจะเกิดความล่าช้าออกไป โดยเฉพาะโครงการรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงที่มีรัฐบาลจีนเข้าร่วมลงทุนด้วย เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ทำให้เกิดความชะงักในการเดินทางเข้ามาเจรจาร่วมกันในช่วงนี้ซึ่งยังคงต้องรอสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ให้คลี่คลายก่อน และทางกระทรวงคมนาคมจะเร่งการดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งโครงการที่ถือเป็นการผลักดันการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย คือ การลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแรกที่ภาครัฐเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศชั้นนำในภูมิภาค และดึงดูดการลงทุนต่างๆเข้ามาในประเทศ ประกอบกับมีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทย เช่น เทคโนโลยี พลังงาน สาธารณสุข ดิจิทัล และการศึกษา ที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพและมีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ในฐานะที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลมั่นใจว่างบประมาณปี 63 จะมีการเริ่มเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบได้ภายในเดือนมี.ค.ที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน และจะเห็นการลงทุนโครงการต่างๆที่ภาครัฐได้เตรียมความพร้อมไว้ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย ในภาวะที่ประเทศไทยเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบในช่วงนี้ ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องหาโอกาสในการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีความแข็งแกร่ง

"เราอยู่ในทำเลที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ที่ผ่านมาเราขาดการพัฒนาและการลงทุนไปค่อนข้างนาน ถ้าเราไม่ทำไรเลย เราก็จะเป็นประเทศที่ถอยหลัง ในอดีตประเทศไทยเป็น 5 เสือ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ทำให้ตอนนี้รัฐบาลจะต้องเร่งการลงทุนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อทำให้เราก้าวไปข้างหน้า และมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน พร้อมกับฉวยโอกาสเข้ามา ในภาวะที่ประเทศเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอกที่มีความไม่แน่นอน"นายศักดิ์สยาม กล่าว

ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ปาฐกถาในหัวข้อ"เจาะอนาคตพลังงานไทย"กล่าวว่า กระทรวงพลังงานพร้อมเดินหน้าตามแผนงาน โดยในด้านเศรษฐกิจฐานราก โดยการช่วยค่าครองชีพประชาชน ซึ่งจะเร่งผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีแรกของปี 63 พร้อมขับเคลื่อนโครงการชุมชนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เช่น สถานีพลังงานชุมชน โครงการสูบน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อสู้ภัยแล้ง การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซให้มีความเป็นธรรม การส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโบดีเซล B10 เพิ่มมากขึ้น

โดยกระทรวงพลังงานพร้อมที่จะผลักดันให้ประเทศไทยมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางของการซื้อขายพลังงานในอาเซียน (Energy Hub) โดยเริ่มจากการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งคาดว่าจะสามารถเกิดการซื้อขายได้จริงภายในไตรมาส 3/63

นอกจากนี้ในด้านของการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้แพร่หลายมากขึ้น เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาฐานการผลิตรถยนต์ในอาเซียน และสามารถดึงดูดนักลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการผลิตแบตเตอร์รี่ หรือ Energy Storage ที่จะเป็นสิ่งที่กระทรวงพลังงานต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแบตเตอร์รี่ในอาเซียนไปควบคู่กัน โดยการทำให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทางกระทรวงพลังงานจะมีการออกมาตรการจูงใจเกี่ยวกับสิทธิพิเศษของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เช่น การให้ผู้ใช้รถไฟฟ้าขึ้นทางด่วนฟรี และฟรีการต่อภาษีรถยนต์สำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

ขณะเดียวกันจะต้องสร้างแรงจูงใจในการสนับสนุนการลงทุนสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้ขยายมากขึ้น ทำให้มีสถานีบริการชาร์ตรถไฟฟ้าครอมคลุมทั่วประเทศ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานจะมีการพิจารณามาตรการออกมาสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในส่วนของการขยายสถานีชาร์จมากขึ้น ทำให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น โดยที่ในวันนี้ (21 ก.พ. 63) จะนำมาตรการดังกล่าวเกี่ยวกับการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเข้าเสนอต่อที่ประชุม

ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวปฐกถาในหัวข้อ"เศรษฐกิจไทยยุค Thailand 4.0"ว่า การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศไทยในปัจจุบัน สิ่งที่สำคัญ คือ การเพิ่มทักษาใหม่ที่จำเป็น (Re-skill) และการเสริมทักษะใหม่ (Up-skill) ให้กับแรงงานไทย ทำให้แรงงานมีความสามารถมากขึ้นในการทำงาน และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการและประเทศด้วย โดยเฉพาะการเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในปัจจุบันและอนาคต ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถมีขัดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ และนำพาให้ผู้ประกอบการรอดพ้นจากการถูกการ Disrupt

ขณะเดียวกันกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้มีการลงทุนด้านดาต้าเซ็นเตอร์ไนประเทศมากขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการในประเทศลดต้นทุนในการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งปัจจุบันเซอร์เวอร์ของดาต้าเซ็นเตอร์ที่ผู้ประกอบการใช้ส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ ทำให้มีต้นทุนในการจัดเก็บข้อมูลที่สูง ประกอบกับในเรื่องของความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูล หากมีการใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ไนประเทศ จะทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการจัดเก็บข้อมูลมากขึ้น พร้อมกับสร้างรายได้เข้ามาในประเทศจากโอกาสที่จะมีผู้ประกอบในภูมิภาคอาเซียนมาใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ไนไทย โดยทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะมีการสนับสนุนการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์อย่างจริงจัง

ด้านการประมูลคลื่นความถี่ 5G ที่ผ่านมาที่ประสบความสำเร็จอย่างดี ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการขับเคลื่อนขีดความสามารถให้กับประเทศไทย เพราะการมี 5G เข้ามาใช้ จะทำใหมเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ 5G ถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก ช่วยให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น โดยที่เป้าหมายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทำ 5G ได้ดีที่สุดในอาเซียน

ส่วนการที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตัดสินใจให้ บมจ.ทีโอที (TOT) และ บมจ.กสท.โทรคมนาคม (CAT) เข้าร่วมประมูล 5G ที่ผ่านมา แม้ว่าจะคว้าคลื่นมาได้เล็กน้อย แต่วัตถุประสงค์หลักของการให้ TOT และ CAT ลงทุน 5G เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการให้บริการ 5G ได้ จากการให้บริหารของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่จะมีการคิดอัตราค่าบริการไม่สูงมาก ได้กำไรจากการให้บริการไม่มาก เมื่อเทียบกับโอเปอเรเตอร์รายใหญ่ 3 รายในตลาด

รวมไปถึงการพัฒนา 5G ของ TOT และ CAT จะมุ่งหวังไปที่การให้บริการแก่ผู่ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไปควบคู่กัน เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการลดต้นทุน และทำให้การดำเนินงานต่างๆของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่การทำ 5G ของ TOT และ CAT จะเป็นปัจจัยที่เข้ามาช่วยสร้างรายได้ใหม่ที่จะเข้ามาชดเชยรายได้จากโทรศัพท์บ้านซึ่งเป็นรายได้หลักเดิมของทั้ง 2 หร่วยงาน ที่ปัจจุบันแทบจะไม่มีลูกค้าใช้แล้ว และทำให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ