(เพิ่มเติม) ธปท.ระบุเศรษฐกิจไทย ม.ค.63 ชะลอตัวต่อเนื่องตามส่งออก-ภาคอุตฯ-บริโภคลงทุนเอกชน-ใช้จ่ายภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 28, 2020 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.63 อยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำ การผลิตภาคอุตสาหกรรม เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐ หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรขยายตัวสูงขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ต่ำในปีก่อน ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้า ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุว่า แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ม.ค.63 จะขยายตัว 3.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่ามูลค่าการส่งออกยังหดตัวต่อเนื่องที่ 1.3% จาก 1) การส่งออกสินค้าหมวดที่ราคาเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบหดตัวต่อเนื่อง อาทิ สินค้าเคมีภัณฑ์ และปิโตรเคมี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า 2) การส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่ง ประกอบกับภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตลดลง 3) การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับมาหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน

อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการย้ายฐานการผลิตมาไทยในช่วงก่อนหน้า ขณะที่สินค้าเกษตรแปรรูปขยายตัวต่อเนื่องตามการส่งออกน้ำตาล

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ชะลอตัว กำลังการผลิตที่ยังคงเหลืออยู่มาก ประกอบกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ยังไม่ดี ส่งผลให้ภาคธุรกิจยังคงชะลอการลงทุน สะท้อนจากเครื่องชี้การลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวต่อเนื่อง ตามยอดขายเครื่องจักรในประเทศและยอดจดทะเบียนรถยนต์ที่ยังหดตัวสูง และการนำเข้าสินค้าทุนที่กลับมาหดตัว รวมทั้งเครื่องชี้การลงทุนหมวดก่อสร้างที่หดตัวต่อเนื่อง จากทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำหดตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรที่ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัว เพราะได้รับผลจากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวเช่นกัน ตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านพลังงานและด้านคมนาคม

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามปัจจัยด้านรายได้ที่ยังอ่อนแอ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งสถาบันการเงินที่ยังระมัดระวังในการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนหลังคุณภาพสินเชื่อด้อยลง แม้รายได้เกษตรกรจะขยายตัวสูงในเดือนนี้ แต่แนวโน้มทั้งปีคาดว่าจะหดตัวจากปัญหาภัยแล้ง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงตามการใช้จ่ายหมวดบริการ แม้การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนปรับดีขึ้นบ้างตามยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค หลังจากลดลงมากในช่วงก่อนหน้า และการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนหดตัวน้อยลงตามยอดขายรถยนต์ ที่ได้รับผลดีจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวสอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ชะลอตัว

ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าขยายตัว 1.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตาม 1) การนำเข้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัวจากทั้งด้านราคาและด้านปริมาณ และ 2) การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องนุ่งห่ม อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และการนำเข้าสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและแท่นขุดเจาะหดตัว สอดคล้องกับภาคการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ยังหดตัว

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ 2.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซีย รัสเซีย และฮ่องกง ที่ยังขยายตัวได้ ซึ่งเป็นผลจากการเหลื่อมเดือนของเทศกาลตรุษจีนที่มาเร็วกว่าปีก่อน อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวจีนหดตัว เนื่องจากทางการจีนประกาศให้บริษัทนำเที่ยวในจีนหยุดดำเนินกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.63 เป็นต้นมา หลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงขึ้นในประเทศจีน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.05% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่กลับมาขยายตัวเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งจากผลของฐานราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ต่ำในปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงเล็กน้อย ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้า ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิ ทั้งจากด้านสินทรัพย์ตามการถอนเงินฝากในต่างประเทศของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) และด้านหนี้สินตามการเข้ามาลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างประเทศ ส่วนใหญ่จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการกู้ยืมสินเชื่อระยะสั้นของสถาบันการเงินที่รับฝากเงินไทยเป็นสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ