บอร์ด ธ.ก.ส.เห็นชอบชุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อศก.ทั้งทางตรง-ทางอ้อม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 9, 2020 10:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญหน้ากับหลากหลายสถานการณ์ที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ธ.ก.ส. จึงได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ สงครามการค้า ภัยแล้ง น้ำท่วม ราคาผลผลิตตกต่ำ และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประกอบด้วยการขยายระยะเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ปลอดชำระต้นเงินใน 3 ปีแรก พร้อมเติมสินเชื่อใหม่โดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจ ระยะเวลาดำเนินมาตรการ 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 - 31 ธันวาคม 2564 ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยขอบเขตลูกหนี้ที่ให้ความช่วยเหลือตามมาตรการนี้ ซึ่งยังคงมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจหรือสามารถชำระหนี้ได้ในอนาคต ดังนี้

1) ลูกหนี้ปกติ (Non-NPL) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ให้สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกัน (Pre-emptive) ในวงเงินที่ไม่เกินหนี้เดิม ตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณของการมีปัญหาในการชำระหนี้ โดยลูกหนี้ยังไม่เป็นหนี้ที่ด้อยคุณภาพ กล่าวคือ ในส่วนของต้นเงินกู้และดอกเบี้ยเดิมก่อนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ กรณีเกษตรกรและบุคคลชำระภายในไม่เกิน 15 ปี สามารถปลอดชำระต้นเงินได้ไม่เกิน 3ปีแรก กรณีผู้ประกอบการและสถาบัน ขยายระยะเวลาชำระหนี้ภายในไม่เกิน 20 ปี และปลอดชำระต้นเงิน ได้ไม่เกิน 3 ปีแรก และ/หรือลดดอกเบี้ยเดิมให้แก่ลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งเมื่อลดแล้วเหลือดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า MRR หรือ MLRตามประเภทของลูกหนี้ ในส่วนของดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่จากต้นเงินที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิม ให้คิดจากลูกหนี้แต่ละประเภท โดยเกษตรกรและบุคคล คิดในอัตราไม่ต่ำกว่า MRR และผู้ประกอบการและสถาบัน คิดในอัตราไม่ต่ำกว่า MLR

2) ด้านลูกหนี้ NPL (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562) ให้การช่วยเหลือในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สินเดิมในวงเงินที่ไม่เกินหนี้เดิม กล่าวคือ กรณีเกษตรกรและบุคคล ต้นเงินกู้เดิมก่อนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สามารถขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามความสามารถในการชำระของลูกหนี้แต่ละรายโดยกำหนดชำระให้แล้วเสร็จภายในไม่เกิน 15 ปี สามารถปลอดชำระต้นเงินได้ไม่เกิน 3 ปีแรก ส่วนดอกเบี้ยของต้นเงินกู้เดิมก่อนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้ชำระตามความสามารถในการชำระของลูกหนี้แต่ละรายให้แล้วเสร็จภายในไม่เกิน 15 ปี และ/หรือลดดอกเบี้ยเดิมให้แก่ลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งเมื่อลดแล้วเหลือดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า MRR สำหรับดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่จากต้นเงินที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิม ให้คิดจากลูกหนี้แต่ละราย ในอัตราไม่ต่ำกว่า MRR - 1 กรณีผู้ประกอบการและสถาบัน ต้นเงินกู้เดิมก่อนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายให้แล้วเสร็จภายในไม่เกิน 20 ปี สามารถปลอดชำระต้นเงินได้ไม่เกิน 3 ปีแรก ส่วนดอกเบี้ยของต้นเงินกู้เดิมก่อนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ชำระตามความสามารถในการชำระของลูกหนี้แต่ละรายให้แล้วเสร็จภายในไม่เกิน 20 ปี และ/หรือลดดอกเบี้ยเดิมให้แก่ลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งเมื่อลดแล้วเหลือดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า MLR สำหรับดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่จากต้นเงินที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิม ให้คิดในอัตราไม่ต่ำกว่า MLR - 0.50

นอกจากนี้ ยังเตรียมสินเชื่อใหม่ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) หรือเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้เพิ่มเติมจากการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งกรณีที่ลูกหนี้ต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องในระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กรณีเกษตรกรและบุคคล คิดดอกเบี้ยตามศักยภาพ กำหนดวงเงินกู้ 100,000 บาทแรก อัตราดอกเบี้ยตามชั้นลูกค้าหรือตามการประเมินปัจจัยเสี่ยง - 0.25 เป็นระยะเวลา 1 ปี และ ส่วนที่เกิน 100,000 บาท คิดดอกเบี้ยตามชั้นลูกค้า กรณีผู้ประกอบการและสถาบัน คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่า MLR – 1 มาตราการช่วยเหลือลูกหนี้ดังกล่าว สามารถให้ความช่วยเหลือครอบคลุมลูกหนี้ทุกกลุ่ม ทั้งในส่วนของลูกหนี้ปกติที่มีสัญญาณของการมีปัญหาในการชำระหนี้ และลูกหนี้ที่มีหนี้สินเป็นภาระหนักหวังเป็น อย่างยิ่งว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ลูกค้า ธ.ก.ส. ได้ผ่อนคลายความกังวลในภาระหนี้สินเดิม และเงินทุนหมุนเวียนใหม่ในการประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ