(เพิ่มเติม1) รมว.คลัง เผยครม.เห็นชอบมาตรการระยะที่ 1 ดูแลผลกระทบเศรษฐกิจ-ประชาชนจากไวรัสโควิด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 10, 2020 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบชุดมาตรการดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 1 รวม 12 มาตรการ เพื่อการดูแลทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ภายใต้หลักการที่ว่า เป็นมาตรการที่ทันการณ์ ตรงเป้าหมาย และเป็นมาตรการชั่วคราวตามความจำเป็น ประกอบด้วยมาตรการทางการเงินและมาตรการทางภาษี

มาตรการทางการเงิน ประกอบด้วย

1.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยธนาคารออมสินเตรียมวงเงินไว้ 150,000 ล้านบาทให้แก่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 2% ระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท/ราย

2. มาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะดำเนินการโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น ด้วยการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้และเงื่อนไขการรับประกันในด้านต่าง ๆ เช่น การพักชำระหนี้เงินต้น การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ และการผ่อนคลายเงื่อนไขการจ่ายค่าสินไหมทดแทน เป็นต้น นอกจากนี้ SFIs บางแห่งยังมีมาตรการสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงมีโครงการ Refinance หนี้บัตรเครดิตในอัตราดอกเบี้ยต่ำลง

3. มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกแนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินและบริษัทลูกในกลุ่ม สถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่ให้สินเชื่อที่มิใช่สถาบันการเงิน เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในเชิงรุกอย่างทันเหตุการณ์ เช่น ผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อปกติ เพิ่มความยืดหยุ่นในการอนุมัติเงินกู้ เพื่อให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจหรือดำเนินชีวิตประจำวันต่อไปได้

4.มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โดย สปส.จะร่วมกับสถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อยกว่า 80% ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ยังคงสามารถจ้างลูกจ้างต่อไปได้ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

มาตรการทางภาษี ประกอบด้วย

1. มาตรการคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 ก.ย.63 และลดเหลืออัตรา 2% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามข้อกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63-31 ธ.ค.64 ที่จ่ายผ่านระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax)

2. มาตรการลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีการจัดทำบัญชีเดียว สามารถหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับรายจ่ายดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.63

3. มาตรการส่งเสริมการจ้างงานที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยให้ผู้ประกอบการ SME นำรายจ่ายค่าจ้างมาหักลดหย่อนได้ 3 เท่าในการคำนวณภาษีเงินได้ สำหรับรายจ่ายค่าจ้างของเดือน เม.ย.-ก.ค.63 ให้แก่ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและได้รับค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน

4. การเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศให้เร็วขึ้น โดยหากเป็นผู้ที่ยื่นแบบชำระภาษีทางอินเตอร์เน็ต จะคืนให้ภายใน 15 วัน ส่วนการยื่นที่สำนักงานสาขาของสรรพากร จะคืนให้ภายใน 45 วัน

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น

1. มาตรการบรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ รัฐวิสาหกิจ กระทรวงเจ้าสังกัดที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานกำกับ (Regulator) บรรเทาภาระโดยพิจารณาถึงแนวทางการลดและเลื่อนการชำระค่าน้ำและค่าไฟ หรือแนวทางที่เหมาะสม เช่น คืนค่าประกันการใช้ไฟบางส่วน เป็นต้น ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ

2. มาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและผู้ประกันตน จากอัตรา 5% เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน โดยเงินสมทบของรัฐบาลให้คงอัตราเดิมที่ 2.75% ของค่าจ้าง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างและผู้ประกันตนในช่วงที่ภาคส่วนต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ

3. มาตรการบรรเทาภาระค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนในการให้บริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจลดหรือชะลอหรือเลื่อนการเก็บค่าธรรมเนียม ค่าเช่าราชพัสดุ ค่าตอบแทนในการให้บริการ หรือค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

4. มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน โดยให้หักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยแยกจากวงเงินหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กรณีปกติ และไม่อยู่ภายใต้เพดานวงเงินหักลดหย่อนรวมในกองทุนเพื่อการเกษียณ (RMF) ทั้งหมด โดยต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.63 และถือลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี

รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้เห็นชอบให้กันวงเงินงบประมาณเบื้องต้น 20,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมการไว้สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง หรือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากที่พนักงานไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ การเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร ซึ่งกระทรวงการคลังจะหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อกำหนดรูปแบบและขอบเขตการใช้วงเงินดังกล่าวต่อไป

"ในหลักการ ครม.อนุมัติแล้ว ด้วยเห็นความจำเป็นว่าหากเกิดผลกระทบ จะได้มีกองทุนส่วนนี้ หรือวงเงินนี้ไว้ใช้จ่ายตามความจำเป็น แต่ต้องคุยรายละเอียดต่อไป" รมว.คลังระบุ

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากรเสนอ ในการยกเว้นอากรนำเข้าวัสดุที่เกี่ยวข้องกับหน้ากากอนามัย เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับจากนี้เป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ