COVID-19"พิพัฒน์"รับโควิด-19 ทำนทท.วูบ รายได้จ่อหายกว่า 1-3 แสนลบ./ขอความร่วมมือเลื่อนจัดงานอีเว้นท์ ลดผลกระทบ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 13, 2020 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา แถลงผ่านศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ถึงผลกระทบด้านการท่องเที่ยวว่า หากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวได้ลดลง โดยเฉพาะ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่จีนสั่งปิดเมืองอู่ฮั่น มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทย 2.4 ล้านคน และในช่วงวันที่ 1-11 มี.ค. นักท่องเที่ยวเข้ามา 5.5 แสนคน หายไป 57.26%

ดังนั้นหากสถานการณ์การระบาดของไวรัสยุติลงในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ คาดว่าเดือนเมษายนนี้จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยประมาณการว่า หากสถานการณ์ดีขึ้น เดือนเมษายน-ธันวาคม จะมีนักท่องเที่ยว 36.9 ล้านคน จะสร้างรายได้ 1.78 ล้านบาท รายได้ทั้งปีหายไปประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปถึงเดือนมิถุนายน ก็มีการประเมินว่า จะมีนักท่องเที่ยว 32.5 ล้านคน จะมีรายได้ 1.58 ล้านบาท รายได้ทั้งปีหายไปประมาณ 3 แสนล้านบาท

สำหรับมาตรการช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ถือเป็นเทศกาลสำคัญของคนไทย การจัดอีเว้นท์ใหญ่ๆที่กระทรวง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีส่วนเกี่ยวข้องได้ประกาศยกเลิกทั้งหมดแล้ว ส่วนเอกชนทางกระทรวงได้ขอความร่วมมือไปแล้วให้ยกเลิกหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงย้ำให้ภาคเอกชนจัดกิจกรรมในช่วงอื่นที่สถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว

ทั้งนี้ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า กีฬาที่เป็นอีเว้นท์ใหญ่ๆ อาทิ มอเตอร์จีพี ที่มีการเลื่อนไปจัดในเดือนตุลาคมเช่นเดียวกับการแข่งขันไทยลีกที่เลื่อนไปกลางเดือนเมษายน2563 ทั้งนี้ขึ้นอยู่ตามเหมาะสมของสถานการณ์; นอกจากนี้อีกหลายการแข่งขันที่มีการเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนดด้วย

"สำหรับการแข่งขันกีฬาต่างๆที่เลื่อนไปนั้น อาจจะเลื่อนไปถึงเดือนตุลาคม และหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายอาจมีการจัดการแข่งขันขึ้นได้ในลักษณะที่ไม่มีผู้ชม โดยให้ชมผ่านการถ่ายทอดสดแทน ส่วนการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่น เจ้าภาพยังคงยืนยันที่จะจัดการแข่งขันเช่นเดิม ซึ่งก็ต้องว่ากันไปตามสถานการณ์ เพราะขณะนี้ยังไม่มีการส่งสัญญาณเลื่อนหรือยกเลิกแต่อย่างใด"นายพิพัฒน์ กล่าว

ส่วนการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะการจัดการสัมมนาของหน่วยงานราชการนั้น รมว.ท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า อยากให้เริ่มเดือนเมษายนนี้ จะมีส่วนช่วยผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว รวมถึงข้าราชการในส่วนของท้องถิ่น อยากให้มีปลดล็อกระเบียบเรื่องการดูงานข้ามภูมิภาคได้ ซึ่งจะมีการหารือกับทางมหาดไทยต่อไป

ขณะที่นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลการช่วยเหลือผู้บริโภคด้านการท่องเที่ยวและสายการบินว่า ได้รับการร้องเรียนปัญหาที่เกี่ยวกับสายการบินและการท่องเที่ยว รวม 1830 รายเกี่ยวกับยกเลิกการเดินทาง และเอเจนซี่ในการจองทัวร์ และได้หารือกับ 13 บริษัทแล้ว ได้มาตรการคือ ประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ประกาศตั้งแต่ วันที่ 12 ก.พ.-21 ก.พ. ซึ่งยังไม่ได้เดินทาง สายการบินยินดีคืนเงินให้ทั่งหมด ส่วนหลังจาก 21 ก.พ.สามารถจะขอคืนเงินหรือเลื่อนการเดินทางใหม่ได้ ซึ่งบางสายการบิน โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำขอหารือกับฝ่ายบริหารก่อน และทราบว่า บางสายการบินจะมีการเลื่อนการบินออกไปถึงเดือน ก.ค. ส่วนสายการบินไทยจะเลื่อนถึงสิ้นปีนี้ ส่วนการจองตั๋วผ่านตัวแทนบริษัท เบื้องต้น สามารถที่จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้ หากใครมีเรื่องร้องเรียนยื่นมาทาง สคบ.ได้ จะทราบผลภายใน 7 วัน

ส่วนข้อเรื่องเรียนเรื่องเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย มีร้องเรียนมา 331 ราย ส่วนใหญ่ราคาแพง สั่งแล้วไม่ได้สินค้า และสินค้าไม่มีคุณภาพ จับกุมไปแล้ว 63 ราย และมีการล่อซื้อทางอินเตอร์เน็ต ส่งดำเนินคดีแล้ว 8 ราย ส่วนในต่างจังหวัด ได้ตรวจสอบ ทั้งสิ้น 175 ราย ดำเนินการตามกฎหมาย 8 ราย

ด้านม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน กล่าวถึงผลกระทบด้านแรงงาน โดยย้ำว่า มีมาตรการลดการนำเงินส่งเอากองทุนประกันสังคม ทั้งในสัดส่วนลูกจ้างและนายจ้างร้อยละ 1 เป็นเวลา 6 เดือนเตรียมนำเสนอ ครม.ต่อไป นอกจากนี้ยังพบว่า มีตำแหน่งงานว่าง 56,000 ตำแหน่งเพื่อรองรับลูกจ้างที่จะหางาน ส่วนการพัฒนาฝีมือแรงงาน จะพยายามพัฒนาให้ได้ 1 แสนคน ส่วนแรงงานนอกระบบจะพัฒนาให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือ จาก 1 แสนคน เป็น 1 แสน 2 หมื่นคน ส่วนแรงงานที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ จะส่งเจ้าหน้าที่แรงงาน ไปสอบถามความต้องการ ว่าอยากทำงานในด้านใด ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงาน กำลังพิจารณาตั้งตู้ตรวจสอบอัตรางานว่างที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และสุวรรณภูมิเพื่อให้แรงงานที่เดินทางกลับมา ได้ตรวจสอบหาตำแหน่งงาน ส่วนกรณีของการได้รับเงินช่วยเหลือจากผลกระทบและต้องเดินทางกลับประเทศไทยจำนวน 15,000 บาทนั้น จะได้เฉพาะแรงงานที่ได้จ่ายเงินสมทบกองทุนผู้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการแชร์สถานที่ที่ 11 คนผู้ติดเชื้อโควิด -19 ที่ไปมา เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่สถานที่เสี่ยง และขออย่านำไปแชร์ต่อ

อย่างไรก็ตาม สำหรับไทย ซึ่งมีผู้ป่วย 75 คน ขณะนี้ส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นตามลำดับ และเชื่อว่าจะควบคุมได้ เพราะขณะนี้ไทยใช้มาตรการที่เป็นมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)ในการควบคุมดูแล โดยขณะนี้สิทธิในการดูแลรักษาคนไทยก็ครอบคลุมทุกคนแล้ว เช่นสิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม หรือแม้แต่บัตรทอง 30 บาท ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องซื้อประกันเพิ่มเติม รวมถึงคนไทยที่จะเดินทางกลับเข้าประเทศไทยในขณะนี้ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อประกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ