คกก.คัดเลือกท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 นัดกลุ่มกิจการค้าร่วมค้า GPC เจรจาครั้งแรก 18 มี.ค.คาดเซ็นสัญญาพ.ค.63

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 16, 2020 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศ (กทท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะนัดเจรจาต่อรองผลตอบแทนกับกลุ่มกิจการค้า GPC (ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (บริษัทในกลุ่ม ปตท.) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ (GULF) และ China Harbour Engineering Company Limited ) ในวันที่ 18 มี.ค.63 เป็นครั้งแรก โดยคาดว่าจะเจรจาเสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย.จากนั้นจะเสนอเข้าบอร์ด กทท. และเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อนุมัติ ก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในเดือน พ.ค. 63 และจะเปิดให้บริการปลายปี 66 ล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้เดิมคือในช่วงต้นปี 66

ทั้งนี้ ในการเจรจาต่อรองรัฐต้องการเพิ่มผลตอบแทนจากที่เอกชนเสนอมาในซอง 4 ซึ่งเป็นผลตอบแทนด้านการเงิน เป็นเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติมูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 35 ปี ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯจะเจรจาต่อรองให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ โดยเอกชนเริ่มจ่ายผลตอบแทนในปีที่ 3

"กระบวนการต่อรอง เราพยายามทำให้ดีที่สุด ประชุมทำได้ทุกสัปดาห์ ส่วนร่างสัญญาได้ส่งให้อัยการสูงสุดได้ให้ความเห็นชอบแล้ว...คณะกรรมการฯเจรจาให้ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องถึงตัวเลขที่รัฐบาลตั้งไว้ ก็ต้องมีเหตุผลรับฟังได้ อะไรที่ต่างกันก็มาพิสูจน์กัน"เรือโท กมลศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ได้เปิดขายซองประมูลเมื่อเดือน มี.ค. 62 มีกลุ่มบริษัทที่สนใจเข้ายื่นซองข้อเสนอรวม 2 ราย ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP (ประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บมจ.พริมา มารีน (PRM) บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค จำกัด และ China Railway Construction Corporation Limited) และกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC

ปรากฏว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นและข้อเสนอทางเทคนิคตามที่กำหนด แต่กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอเนื่องจากเอกสารในส่วนสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มฯ ไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด

ต่อมากลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่าคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงได้ยื่นคำอุทธรณ์คำพิพากษา พร้อมทั้งได้ยื่นคำร้องขอให้ระงับคำสั่งเกี่ยวกับวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ซึ่งในระหว่างนั้นทำให้การดำเนินการต้องหยุดชะงักลง

วันที่ 13 มี.ค.63 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายกฟ้อง กรณีที่กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ที่มีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 นั้น เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ทั้งนี้ สาเหตุของการไม่ผ่านคุณสมบัติ เพราะกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ไม่ลงนามในแบบฟอร์มสัญญากิจการ ร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ กำหนดตามเอกสารการคัดเลือกเอกชน หรือ Request for Proposal (RFP) จึงถือเป็นการผิดสาระสำคัญ ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับผู้ยื่นรายอื่น และกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลของการไม่ลงนามในช่องที่กำหนด ถือเป็นความบกพร่องของกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP

อนึ่ง โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่ารวมลงทุน 8.4 หมื่นล้านบาท โดยได้เริ่มงานก่อสร้าง ที่เพิ่งเปิดประมูลงาน เป็นงานขุดลอกถมทะเล มูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี

เรือโท กมลศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีผลต่อการดำเนินงานของกทท.นั้น ในส่วนท่าเรือกรุงเทพ คาดว่าปริมาณสินค้าจะหายไป ราว 1 แสนทีอียู มาที่ 1.35 ล้านทีอียู จากปีก่อนที่ 1.45 ล้านทีอียู ส่วนท่าเรือแหลมฉบัง คาดปริมาณสินค้าลดลงกว่า 2 แสนทีอียู มาที่ 7.9 ล้านทีอียูจากปีก่อนอยู่ที่ 8.11 ล้านทีอียู


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ