"อนุสรณ์"วิตกผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากมาตรการล็อกดาวน์ พร้อมเสนอเพิ่มงบฯสาธารณสุข

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday April 26, 2020 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มาตรการสาธารณสุขของไทยมีประสิทธิผลในเฟสแรกด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล เสนอผ่อนคลายมาตรการ Lockdown กึ่งปิดเมือง อย่างเป็นขั้นตอนป้องกันการติดเชือระลอกสอง ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก ฉุกเฉิน ใช้ พ.ร.บ ควบคุมโรคติดต่อแทน ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจ จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากมาตรการ Lockdown กึ่งปิดเมือง และการประกาศใช้ พ.ร.ก ฉุกเฉินอยู่ที่ขั้นต่ำ 1.2-1.3 ล้านล้านบาท หากไม่มีการติดเชื้อระลอกสอง หากติดเชื้อระลอกสองความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมต้องประเมินใหม่ และมาตรการเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านบาทในการเยียวยาจะไม่เพียงพอ แม้มาตรการกึ่งปิดเมืองทำให้ไทยมีการติดเชือในระดับต่ำแต่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงมาก หากยืดเวลาการปิดเมืองออกไป คนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ไม่ได้ลดลง ประโยชน์ที่ได้จากการรักษาชีวิตผู้คนจากการติดเชื้อจะมีต้นทุนไม่คุ้มกับการที่คนจำนวนหนึ่งจะเสียชีวิตจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจและความตึงเครียดทางสังคม ซึ่งสามารถคำนวณเป็นเชิงปริมาณได้โดย Value of Statistical Life Model จากงานวิจัยของ Kip Viscusi and Clayton Masterman เสนอเพิ่มงบกระทรวงสาธารณสุขอีก 250,000-300,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพโรงพยาบาลในต่างจังหวัดให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 30 แห่งทั่วประเทศ ยกระดับหรือสร้างโรงพยาบาลเช่นเดียวกันสถาบันบำราศนราดูลภายใต้สังกัดกรมควบคุมโรคเพิ่ม 8 แห่ง ในภูมิภาคต่างๆของประเทศเพื่อรองรับผู้ป่วยในอนาคต เพิ่มจำนวนเตียงเป็น 6.4 เตียงต่อประชากร 1,000 คน จัดสร้างศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพและการกักกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในทุกจังหวัด โครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณสุขเหล่านี้ จะทำให้ประเทศไทย สามารถเผชิญการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต และ สามารถสร้างรายได้จาก การท่องเทียวเชิงสุขภาพได้อีกด้วย

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีหากไม่มีการแพร่ระบาดระลอกสอง สามารถพิจารณาได้ว่ามาตรการสาธารณสุขของไทยมีประสิทธิผลในเฟสแรกแต่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดและผลกระทบของโควิด-19 จะมีความยืดเยื้ออาจยาวนานไม่ต่ำกว่า 2 ปี การใช้มาตรการที่เป็นยาแรงยาวนานเกินไปอาจทำให้ประชาชน ต้องประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง ธุรกิจ ต้องปิดกิจการหรือเข้าสู่ภาวะล้มละลายจำนวนมาก

จำนวนผู้เสียชีวิตจากการทำอัตวินิบาตกรรมอาจสูงกว่าผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีโรคประจำตัวและสูงวัย การผ่อนคลายมาตรการ lockdown เพื่อให้คนกลับไปทำงาน มีรายได้ กิจการธุรกิจต่างๆสามารถเปิดดำเนินการได้เป็นเรื่องที่จำเป็นแต่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังและเป็นขั้นเป็นตอน ควรยกเลิกการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เนื่องจากมีช่องโหว่ในการอ้างเพื่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนและหาประโยชน์ในทางที่ไม่ชอบธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหนึ่ง เห็นควรใช้ พ.ร.บ. ควบคุมโรคติดต่อแทน จะมีประสิทธิภาพและผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์น้อยกว่า เพราะความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดในเฟสแรกของไทยเป็นผลจากความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบการทำงานสาธารณสุข ความร่วมมือและความระมัดระวังตัวเอง รวมทั้ง"แนวคิดภราดรภาพนิยม" ของคนไทยที่ยอมสละเสรีภาพเพื่อความปลอดภัยของสาธารณะ เพื่อประโยชน์สุขของสังคม อันเป็นไปตาม หลักการประชาธิปไตยสมบูรณ์ ความสำเร็จในเฟสแรกของไทยจึงเป็นเรื่องของพลังความร่วมมือของประชาชนและประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขและบริการทางการแพทย์ของไทย จุดแข็งเหล่านี้ต้องทำให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นโดยรัฐบาลและฝ่ายค้านด้วยการสร้างบรรยากาศความร่วมมือกันและการเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้ประเทศไทยสามารถรับมือในเฟสสอง (การติดเชื้อระลอกสอง) และปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะตามมาอีกมากหลังจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาวิกฤติฐานะทางการคลังและการว่างงานจำนวนมาก

นายอนุสรณ์ กล่าวประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากมาตรการ Lockdown และการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินอยู่ไม่ต่ำกว่า 1.2-1.3 ล้านล้านบาท (ใช้สมมติฐานการคำนวณความเสียหายทางเศรษฐกิจจากตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจของ IMF) หากไม่มีการติดเชื้อระลอกสอง หากติดเชื้อระลอกสองความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมต้องประเมินใหม่และ มาตรการเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านบาท (มาตรการการคลัง 1 ล้านล้านบาท มาตรการทางการเงิน 9 แสนล้านบาท) นั้นจะไม่เพียงพอในการบรรเทาและชดเชยผลกระทบในระยะสั้นจากการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ยกเว้นมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและลดการรั่วไหลได้ แต่งบประมาณจำนวนนี้ก็ไม่เพียงพอต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสำหรับอนาคตและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะปานกลางหรือระยะยาว ซึ่งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นบางทีอาจไม่ต้องใช้เงิน เพียงแค่ปฏิรูปกฎระเบียบบางอย่างก็สามารถช่วยได้ บางเรื่องต้องผ่อนคลาย บางเรื่องต้องมีกฎระเบียบเพิ่มเติม การตัดสินใจดำเนินการบางอย่างทางนโยบายไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้ระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่มีอำนาจผูกขาดสูงเยี่ยงนี้ หากเม็ดเงิน 1.9 ล้านล้านบาทถูกบริหารจัดการด้วยรัฐราชการบวกพลังประชารัฐที่เน้นทุนขนาดใหญ่ ประชาชนส่วนใหญ่และธุรกิจรายเล็กรายย่อยจะเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือมากนัก การจัดการงบประมาณต้องเน้นการกระจายอำนาจ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยขับเคลื่อน ต้องปล่อยเงินเข้าสู่ระบบให้เร็วที่สุด ต้องคิดว่าทุกคนเป็นคนดีไว้ก่อนไม่คดโกง

ส่วนใครโกงให้ไปไล่เบี้ยจากการตรวจสอบที่เป็นธรรมในภายหลัง รัฐบาลจะจัดการอย่างไรกับภาวะปลาใหญ่ไล่กินปลาเล็ก หรือ การฮุบกิจการ SMEs ของทุนขนาดใหญ่ จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดอันบิดเบี้ยวภายใต้วิกฤติหรือรัฐควรต้องออกกฎระเบียบบางอย่างเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย

นอกจากนี้ แม้มาตรการกึ่งปิดเมืองทำให้ไทยมีการติดเชือในระดับต่ำแต่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงมาก หากยืดเวลาการปิดเมืองออกไป ประโยชน์ที่ได้จากรักษาชีวิตผู้คนจากการติดเชือจะมีต้นทุนไม่คุ้มกับการที่คนจำนวนหนึ่งจะเสียชีวิตจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจและความตึงเครียดทางสังคม ซึ่งสามารถคำนวณเป็นเชิงปริมาณได้โดย Value of Statistical Life Model จากงานวิจัยของ Kip Viscusi and Clayton Masterman

นายอนุสรณ์ ให้ความเห็นอีกว่า การที่ท่านนายกรัฐมนตรีทำจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐี 20-21 ท่านนั้น การที่มหาเศรษฐีได้ตอบสนองด้วยการจะทำโครงการต่างๆที่เป็นประโยชน์เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ตนจะยินดีมากยิ่งขึ้นไปอีก หากนายกรัฐมนตรีจะขอให้ท่านมหาเศรษฐีได้ช่วยกันใช้เงินส่วนตัวหรือเงินของกิจการของแต่ละท่านในการดูแล "หุ้นกู้" ของตัวเองเพื่อประโยชน์ต่อกิจการของท่านเอง ต่อนักลงทุนผู้ถือตราสารหนี้และเสถียรภาพโดยรวมของตลาดการเงิน โดยพยายามไม่ใช้เงินจากกองทุนสี่แสนล้านบาท หรือ กองทุน BSF ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือใช้ให้น้อยที่สุด ใช้เงินส่วนตัวให้มากที่สุด หรือ ท่านอาจไปกู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารมาแก้ปัญหาการคืนหนี้ในปีนี้ได้หรือ Roll over หรือโยกย้ายหนี้ออกไปก่อน เพราะท่านล้วนเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับโลกทั้งสิ้น

หากท่านได้ดำเนินการตามที่ตนร้องขอก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติอย่างมาก บางทีอาจจะมากกว่ามูลค่าของเงินที่ท่านบริจาคด้วยซ้ำไป เพราะมันเป็นการลดความเสี่ยงในการแปลง "หนี้เอกชน" กลายเป็น "หนี้สาธารณะ" ในอนาคต และ คนที่รับผิดชอบการใช้ "หนี้สาธารณะ" ในอนาคตก็คือประชาชนผู้เสียภาษี โดยเฉพาะลูกหลานของเรานั่นเอง ก็ถือว่า ท่านได้ช่วยเหลือ "ประชาชน" และ "ลูกหลาน"ของเราไม่ให้ต้องแบกรับภาระภาษีอันหนักอึ้งในอนาคตหรือความเสี่ยงที่จะถูกลดสวัสดิการในอนาคตจากปัญหาทางการคลังที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่เกิน 2-3 ปีข้างหน้านี้

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ตนขอเสนอเพิ่มงบกระทรวงสาธารณสุขไม่ต่ำกว่า 250,000-300,000 ล้านบาทและควรนำงบประมาณไปใช้ในเรื่อง ต่อไปนี้ คือ ข้อหนึ่ง ทำ Large Scale Testing สุ่มตรวจการติดเชื้อให้กับประชาชนฟรี โดยเฉพาะให้ทำในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงก่อน ข้อสองให้ใช้มาตรการติดตามผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยงกักกันตัวเองหรือรัฐช่วยกักกัน ในเบื้องต้นให้ผู้ติดเชื้อหรือผู้มีความเสี่ยงกักกันตัวเองก่อน หากไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองรัฐจึงใช้อำนาจกักกัน โดยรัฐชดเชยรายได้และค่าสูญเสียโอกาสทั้งหมดในระหว่างการถูกกักกันโดยรัฐ ข้อสาม เพื่อยกระดับคุณภาพโรงพยาบาลในต่างจังหวัดให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 30 แห่งทั่วประเทศ ข้อสี่ ยกระดับคุณภาพโรงพยาบาล หรือ สร้างโรงพยาบาลใหม่และศูนย์วิจัยทางการแพทย์ในสังกัดกรมควบคุมโรคระบาดแบบสถาบันบำราศนราดุลในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศอีกไม่ต่ำกว่า 8 แห่งเพื่อรองรับผู้ป่ วยในอนาคตและรับมือกับโรคระบาดอุบัติใหม่

ข้อห้า จัดสร้างศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพและการกักกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในทุกจังหวัด ข้อหก สนับสนุนการผ่อนคลายกฎระเบียบและการลดหย่อนภาษีให้กับการลงทุนเพื่อการขยายบริการของโรงพยาบาลเอกชนในกิจกรรมในการป้องกันและรักษาโรคและโรคระบาด ข้อเจ็ด ลงทุนเพิ่มจำนวนเตียงต่อประชากรให้อยู่ในระดับเดียวกับมาตรฐานของกลุ่มประเทศ OECD ขณะนี้ ไทยมีจำนวนเตียงต่อประชากรประมาณ 2.4-2.5 เตียงต่อประชากร 1,000 คน ต้องเพิ่มให้เป็น 6.4 เตียงต่อประชากร 1,000 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับเกาหลีใต้เท่ากับว่า เราต้องลงทุนเพิ่มเตียงในโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนอีกจำนวนมาก ด้วยข้อเสนอที่กล่าวมาข้างต้นจึงไม่ควรตัดงบจากกระทรวงสาธารณสุขไปกองไว้ที่งบกลางเลยแม้แต่บาทเดียวแต่ควรจะเพิ่มให้อีกอย่างต่ำ 250,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณสุขเหล่านี้จะทำให้ ประเทศไทย สามารถเผชิญการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคตได้อีกด้วย และ เป็นแหล่งรายได้สำหรับ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ การเป็น ศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) นอกจากนี้การมีระบบสาธารณสุขที่มีความพร้อมระดับสูงสุดในการเผชิญภัยพิบัติทางด้านสาธารณสุขจะทำให้ประเทศไทยมีทางเลือกยืดหยุ่นมากขึ้นในการใช้ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคระบาดอุบัติใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจน้อยลง การใช้มาตรการไม่ปิดเมือง หรือ ปิดในช่วงสั้นๆได้ เพราะมีระบบสาธารณสุขที่มีความพร้อมในการรับมือ โดยไม่ต้องใช้ยาแรงปิดเมือง ปิดธุรกิจ ในการควบคุมโรค ที่นำมาสู่ความตึงเครียดทางสังคม และ ความยากลำบากอย่างมากทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งคนจำนวนหนึ่งได้กระทำอัตวินิบาตกรรมหรือฆ่าตัวตาย ขอให้รัฐบาล ไปศึกษาบทเรียนและความสำเร็จของเกาหลีใต้ ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อิสราเอล กลุ่มประเทศยุโรปเหนือและเยอรมัน เป็นต้น โดยประเทศเหล่านีดำเนินการแก้ปัญหาด้วยความโปร่งใส เน้นการมีส่วนร่วมและเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ