COVID-19ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดค้าปลีกปี 63 ส่อแววหดตัว 5-8% ผู้ประกอบการเผชิญโจทย์ยากขึ้นหลังโควิดคลี่คลาย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 30, 2020 10:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าภาพรวมการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในปี 2563 จะยังหดตัวราว 5-8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะค้าปลีกที่ขายสินค้าไม่จำเป็น/ฟุ่มเฟือย เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าเฉพาะอย่างวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงและกลับมาฟื้นตัวได้ช้ากว่าค้าปลีกที่เน้นขายสินค้าจำเป็นพวกอุปโภคบริโภคอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ของโมเดิร์นเทรด ผู้ผลิตสินค้า และ Social Commerce

ทั้งนี้ แผนการทยอยปลดล็อกมาตรการ Lockdown ของภาครัฐ ที่ในเบื้องต้นคาดว่าร้านค้าปลีกขนาดเล็กจะเปิดบริการวันที่ 4 พ.ค.63 และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่จะเปิดบริการ 1 มิ.ย.63 นั้น แม้ว่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่ ช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกมีโอกาสกลับมาสร้างรายได้ผ่านช่องทางหน้าร้านอีกครั้ง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่กดดันการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกหลังจากนี้ โดยเฉพาะกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงอ่อนแรงต่อเนื่อง แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อมาช่วยได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งความไม่มั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย หากโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดรอบ 2 จึงทำให้ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลและอาจจะออกมาใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าภาครัฐจะมีการทยอยผ่อนปรนมาตรการ Lockdown ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจค้าปลีก แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานตั้งแต่ต้นปีและกำลังเข้าสู่เดือนพ.ค. จนทำให้ภาคธุรกิจหลายรายต้องปิดกิจการลงชั่วคราว หรือบางรายไม่สามารถรักษาสภาพคล่องได้และต้องปิดกิจการไป จนทำให้มีแรงงานตกงานจำนวนมากราว 3-5 ล้านคน ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแรงต่อเนื่องมาก่อนหน้านั้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง การว่างงาน รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่กระทบกลุ่มเกษตรกร ปัจจัยเหล่านี้ล้วนกดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภค และส่งผลต่อเนื่องถึงการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในปี 2563 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"ภายใต้สมมติฐานที่ไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ภายในครึ่งปีแรก และไม่เกิดการระบาดใหม่ในรอบ 2 ก็น่าจะส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวได้บ้างในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ มาเยียวยา ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการและภาคประชาชนได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในรายได้และความปลอดภัยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัวในอนาคต จึงยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า ภาพรวมการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในปี 2563 น่าจะยังคงหดตัวราว 5-8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว" บทวิเคราะห์ระบุ

ทั้งนี้ โควิด-19 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดการเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ๆ ภายหลังจากการกักตัวและทำงานที่บ้าน (Work from home) ตลอดช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จนทำให้บางพฤติกรรมเป็นความเคยชินและกลายเป็นเรื่องปกติ (New normal) ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า บทเรียนจากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ อาจนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจค้าปลีกที่ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น หรืออาจต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะปัจจัยโควิด-19 ได้เร่งให้แพลตฟอร์มออนไลน์กลายมาเป็นช่องทางการขายที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น จึงเป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้ผู้ประกอบการค้าปลีกแต่ละรายต้องปรับตัวและหันมารุกทำตลาดออนไลน์อย่างจริงจังและรวดเร็วขึ้น

ดังนั้น ภายหลังการเกิดโควิด-19 คาดว่า ตลาดออนไลน์จะกลายเป็นช่องทางที่มีความสำคัญมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการค้าปลีก สินค้าที่จำหน่ายหรือแม้แต่กลุ่มลูกค้าออนไลน์ใหม่ๆ ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคบางรายเรียนรู้และเริ่มทดลองสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 บางรายเกิดการทดลองซื้อสินค้ากลุ่มใหม่ เช่น อาหาร ผัก ผลไม้ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ครั้งแรก จึงนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการค้าปลีกที่ต้องเร่งปรับตัวและหันมาทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าช่องทางออนไลน์จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ประกอบการค้าปลีกจะประสบความสำเร็จ เพราะก็ถือเป็นช่องทางที่ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญความท้าทายอยู่พอสมควรเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากจำนวนผู้เล่นที่มากรายทั้งรายใหญ่และรายย่อยไม่ต่ำกว่า 600,000 ราย ซึ่งหากสินค้าและการให้บริการของเราไม่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคที่หลากหลาย และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ทัน ก็อาจจะนำมาซึ่งความยากลำบากในการแข่งขัน

"ผู้ประกอบการค้าปลีก อาจจะต้องเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับสินค้าของตนเองและสามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ สามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ (New experience) ให้กับผู้บริโภค รวมถึงคุณภาพของการให้บริการที่สร้างคว้ามประทับใจให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะความสะดวกและความปลอดภัยในการชำระเงิน ตลอดจนความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ และสุดท้าย หากสินค้าที่ผู้ประกอบการค้าปลีกนำมาจำหน่ายไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ผู้บริโภคก็จะตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ใส่ใจในเรื่องของคุณภาพในการให้บริการที่อำนวยความสะดวกและสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคได้มากที่สุด" บทวิเคราะห์ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย มีความเป็นไปได้ที่พื้นที่หน้าร้านจะถูกลดบทบาทความสำคัญลง การมีหน้าร้านหรือมีพื้นที่เช่าร้านขนาดใหญ่อาจจะถูกลดขนาดการเช่าลง เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไป และมีแนวโน้มว่าจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม เช่น ผู้บริโภคที่จะกลับมาใช้จ่ายผ่านหน้าร้านเพียงอย่างเดียวน่าจะมีแนวโน้มลดน้อยลง ความถี่ในการซื้อสินค้าหน้าร้านอาจจะลดลง เพราะหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงสินค้าได้ค่อนข้างหลากหลายและมีความสะดวกมากขึ้น

ท้ายที่สุด พื้นที่หน้าร้านอาจจะมีไว้สำหรับตอบโจทย์ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการกลุ่มธุรกิจบริการ เช่น ตัดผม เสริมความงาม รับประทานอาหาร หรืออาจจะใช้เป็นพื้นที่โชว์รูมหรือจัดแสดงสินค้า (ดิสเพลย์) คอลเลคชั่นใหม่ หรือสินค้าที่เป็น Limited edition หรือ Rare item ที่ให้ประสบการณ์กับลูกค้าหลังจากทำการศึกษาข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ หรือเข้ามาเพื่อรับบริการหลังการขายต่างๆ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ