ธ.ก.ส.ออกสินเชื่อช่วยเกษตรกรรับมือภัยแล้ง 3 โครงการ วงเงินรวม 2 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 8, 2020 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้จัดทำโครงการสนับสนุนสินเชื่อ เงื่อนไขและดอกเบี้ยผ่อนปรน จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1) สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือฉุกเฉินจำเป็นในครัวเรือนของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ประสบภัยในเขตพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เช่น ค่าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ค่าซ่อมแซมบ้านเรือน เครื่องมือ/อุปกรณ์การเกษตร เป็นต้น วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี ในช่วง 6 เดือนแรก และตั้งแต่เดือนที่ 7 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย MRR (ร้อยละ 6.50 ต่อปี) กำหนดชำระคืนไม่เกิน 3 ปี นับจากวันกู้

2) สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าลงทุนฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหาย หรือเป็นค่าลงทุนสร้างหรือซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร/เครื่องมือ/เครื่องจักรการเกษตร ที่ได้รับ ความเสียหายในเขตพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 (ร้อยละ 4.50 ต่อปี) ชำระคืนไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันกู้

3) สินเชื่อเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนสนับสนุนในการจัดหา สร้าง/พัฒนา และปรับปรุงแหล่งน้ำไว้ใช้ในยามวิกฤตและลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง วงเงินกู้รายละไม่เกิน 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 - 2 ร้อยละ 0 ต่อปี และตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR-2 (ร้อยละ 4.50 ต่อปี) ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ถึง 31 ธันวาคม 2563

"จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา ทำให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร โดยมีพื้นที่ได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพของเกษตรกร นำไปสู่ปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ"

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงวิกฤตภัยแล้งแล้วจำนวนกว่า 30,000 ราย จำนวนเงินกว่า 4,600 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินฯ จำนวนเงิน 110 ล้านบาท เกษตรกร 2,315 ราย สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ จำนวนเงิน 3,766 ล้านบาท เกษตรกร 21,658 ราย และสินเชื่อเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรฯ จำนวนเงิน 809 ล้านบาท เกษตรกร 6,123 ราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ