ดีอี-กสทช.ให้ทีโอทีร่วม กทม.นำสายสื่อสารลงใต้ดินกลางกรุงเทพ 12 เส้นทาง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 15, 2020 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากการหารือ เรื่องการนำสายสื่อสารลงใต้ดินพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเส้นทางที่การไฟฟ้านครหลวงไม่มีการรื้อถอนเสาไฟฟ้า และไม่มีสภาพบังคับตลอดแนวถนนอโศกมนตรี ตั้งแต่ถนนสุขุมวิทถึงถนนเพชรบุรี ระหว่าง บมจ.ทีโอที , กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) ได้ข้อสรุปว่า ให้ทีโอที ดำเนินการในพื้นที่ที่ทีโอที พร้อมให้บริการได้ทันที คือ 12 เส้นทาง จำนวน 48.7 กิโลเมตร ตามที่ ทีโอทีเสนอว่าพร้อมดำเนินการได้ภายใน 3 เดือน โดยไม่ต้องทำไรเซอร์ หรือ จุดเชื่อมต่อจากท่อใต้ดินสู่ริมฟุตบาท เพื่อเข้าไปยังบ้านเรือนประชาชน

ส่วน กทม.ก็มีแผนต้องทำท่อร้อยสายเพื่อวางสายเกี่ยวกับความมั่นคง เช่น สายกล้องวงจรปิด สายแจ้งเตือนภัยต่างๆ เป็นต้น ส่วนพื้นที่ไหน ที่ทีโอทีต้องการชุดใหม่ กทม.ไม่อนุญาตให้ทีโอทีขุดเพิ่ม เว้นแต่พื้นที่ขุดทำไรเซอร์ ก็สามารถทำเรื่องขอกรุงเทพมหานคร ขุดเป็นพื้นที่ๆไป ทั้ง กทม และ ทีโอที ก็ต่างคนต่างดำเนินการ ขึ้นอยู่กับเอกชนว่าจะใช้บริการของใคร ส่วนเส้นทางที่เหลือทีโอทีต้องสำรวจก่อนว่าสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องขุดท่อใหม่หรือไม่ เพราะหากต้องขุดท่อใหม่ กทม จะไม่อนุญาตให้ทำ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในส่วนของเงินสนับสนุนค่าเช่าท่อร้อยสายนั้นจะมีการนำเสนอบอร์ดดีอีเพื่อนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) มาสนับสนุนร้อยละ 50 เพื่อแบ่งเบาภาระให้เอกชนที่ต้องนำสายที่เคยพาดบนเสาไฟฟ้าลงใต้ดิน แต่จะไม่ช่วยค่าเช่าสำหรับสายโทรคมนาคมเส้นใหม่ เช่น สาย5G เพราะเป็นต้นทุนที่เอกชนต้องคำนวนไว้อยู่แล้วตอนประมูลคลื่น

ด้านนายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานพัฒนาองค์กร และรักษาการแทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ทีโอที กล่าวว่า ทีโอที ได้ทำแผนที่ดิจิทัล เพื่อระบุถึงพื้นที่ที่ทีโอทีมีท่ออยู่ในกทม.จำนวน 2,500 กิโลเมตร ให้กับ กทม.สามารถเข้ามาดูได้ตลอดเวลาแล้ว โดยภายในสัปดาห์หน้าทีโอทีสามารถดำเนินการได้ทันที 12 เส้นทาง จำนวน 48.7 กิโลเมตร ซึ่งสถานที่นำร่องที่ทีโอทีสามารถดำเนินการได้ทันทีนั้นซึ่งมีท่อร้อยสายใต้ดินอยู้แล้ว อาทิ ถนนรัชดาภิเษก ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถนนพระราม 4 ถนนพหลโยธิน ถนนอิสรภาพ และถนนจรัญสนิทวงศ์ ล้วนเป็นสถานที่ที่ไม่ต้องขุดไรเซอร์ หรือ จุดเชื่อมต่อสายจากใต้ดินขึ้นมาสู่พื้นดินตรงหน้าริมฟุตบาทสำหรับเชื่อมไปยังอาคารบ้านเรือนผู้ใช้งาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ