คลัง เตรียมนัด ททท.-KTB สรุปแนวทางทำเว็บไซต์หนุนท่องเที่ยวตามโครงการ"เราไปเที่ยวกัน-เที่ยวปันสุข"

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 17, 2020 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้กระทรวงการคลังจะหารือร่วมกับธนาคารกรุงไทย (KTB) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อสรุปแนวทางการทำเว็บไซต์เพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว เพื่อที่จะเปิดตัวในวันที่ 1 ก.ค.63

โดยก่อนเปิดตัวจะต้องทำการชี้แจงและสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเว็บไซต์ดังกล่าวนี้จะสนับสนุนการท่องเที่ยวของประชาชนในโครงการ"เราไปเที่ยวกัน"และโครงการ"เที่ยวปันสุข"

สำหรับโครงการเราไปเที่ยวกันจะใช้สิทธิได้ 1 ครั้ง คือ ค่าห้องพักสูงสุดไม่เกิน 5 ห้องพักต่อคน สูงสุดไม่เกิน 5 คืน โดยไม่จำกัดราคาค่าห้อง ราคาห้องจะแพงเท่าไหร่ก็ได้ โดยรัฐบาลจะช่วยจ่ายให้ 40% หรือไม่เกิน 3 พันบาทต่อคืน ประชาชนที่สนใจจะต้องเข้ามาดูรายชื่อโรงแรมที่พักที่เข้าร่วมโครงการในเว็บไซต์ที่เตรียมจะเปิดตัว และทำการจองตรงกับโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ และจะต้องจ่ายเงินให้กับโรงแรมที่พักทันทีในอัตรา 60% เพื่อให้โรงแรมมีเงินไปหมุนเวียน

หลังจากจองโรงแรมได้แล้ว ประชาชนจะต้องมาลงทะเบียนในระบบของเว็บไซต์เดิมอีกครั้งหนึ่งเพื่อยืนยันตัวตนว่าจะไปท่องเที่ยวจริง และระบบจะโอนเงิน 40% ค่าที่พักในส่วนที่เหลือให้กับโรงแรม พร้อมสิทธิ E-Voucher ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง จำนวน 600 บาทต่อคืน (สูงสุดไม่เกิน 5 คืน) ให้กับผู้ไปเที่ยว ในวันที่ผู้จองที่พักเข้าเช็คอินที่โรงแรมที่พักในวันแรก โดยสิทธิดังกล่าวจะจ่ายทุกวัน วันละ 600 บาท และผู้ได้รับสิทธิจะต้องใช้ให้หมดภายในวันที่เช็คเอ้าท์ก่อนเวลา 00.00 น.

"สิทธิต่อคน 5 คืน สามารถกระจายใช้ได้ เช่น อาจจะไปพักที่หัวหิน 2 คืน และไปพักที่เชียงใหม่ 3 คืน แบบนี้ก็สามารถทำได้ แต่ขอให้อยู่ในระยะเวลาของโครงการ คือตั้งแต่เดือน ก.ค.-ต.ค. (4 เดือน) เท่านั้น ระบบนี้ใครมาลงทะเบียนก่อนสามารถได้สิทธิก่อน เพราะโครงการมีการจำกัดสิทธิอยู่ที่ 5 ล้านคืน ซึ่งระบบได้ออกแบบมาเพื่อให้มีการกระจายการท่องเที่ยวไปทั่วทุกจังหวัดของประเทศ และให้กับผู้ที่ตั้งใจจะเที่ยวจริงๆ จึงให้มีการจ่ายเงินทันทีกับผู้ประกอบการโรงแรมที่พัก ส่วนหนึ่งเพื่อต้องการช่วยให้โรงแรมมีเงินไปหมุนเวียนก่อน" นายลวรณ กล่าว

สำหรับสิทธิ์ E-Voucher จำนวน 600 บาทนั้นไม่สามารถกดเป็นเงินสดได้ และสามารถใช้ได้ 3 กรณี คือ 1.ร้านอาหารในโรงแรมที่เข้าพัก 2.ร้านอาหารนอกโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะมีทั้งร้านอาหารขนาดใหญ่ เล็ก และร้านอาหารริมทาง ซึ่งจะมีรายชื่อปรากฎในเว็บไซต์ และ 3.การแสดงที่ต้องซื้อบัตรเข้าชม โดยการใช้สิทธิ E-Voucher ต้องเป็นการร่วมจ่ายกับรัฐบาล คือ รัฐบาลจ่ายให้ 40% เช่น ทานอาหารในโรงแรม 1 พันบาท ร้านอาหารจะคิดเงิน 600 บาท ส่วนอีก 400 บาทระบบจะตัดจาก E-Voucher อัตโนมัติ

ขณะที่การจองตั๋วสายการบินในโครงการ"เที่ยวปันสุข"ที่เป็นลักษณะการร่วมจ่าย (CO-PAY) จะมีสายการบินเข้าร่วมโครงการในเว็บไซต์ เป็นสายการบินทั่วไป ไม่ได้จำกัดแค่สายการบินต้นทุนต่ำ โดยรัฐบาลจะร่วมจ่ายให้ 40% แต่ไม่เกิน 1 พันบาท และได้สิทธิคนเดียวครั้งเดียว ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับสายการบินว่าจะสามารถจ่ายเงินในลักษณะของโรงแรมได้หรือไม่ คือจ่ายเฉพาะส่วน 60% ที่ประชาชนต้องจ่าย ส่วน 40% ที่รัฐบาลจะออกให้จะทำการโอนตรงให้กับสายการบิน หรือประชาชนรับผิดชอบจ่ายทั้งหมด 100% ก่อนและรัฐบาลจะจ่ายส่วนลดคืนให้ประชาชนโดยตรงในภายหลัง โดยในส่วนสายการบินมีแค่ 2 ล้านสิทธิเท่านั้น

"คลังเป็นผู้สนับสนุนระบบให้กับ ททท.ที่เป็นผู้คิดและออกมาตรการ โดยจะมีการหารือกันอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา และให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งคาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อช่วยผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องได้หลายหมื่นล้านบาทในช่วงโลว์ซีซั่น ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการต่อลมหายใจได้ก่อนถึงช่วงไฮซีซั่น" นายลวรณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ