NGOs ค้านเข้าร่วม CPTPP ชี้ผลทางเศรษฐกิจมีน้อย มองกระบวนการทางสภาฯเข้าทางรัฐบาลมากกว่า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 23, 2020 18:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรีนพีซ ไทยแลนด์ จัดเสวนาออนไลน์ในประเด็น "คุยให้รู้เรื่อง ทำไมเราถึงบอกว่า CPTPP เสียมากกว่าได้" โดย น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ระบุว่า ประเทศไทยไม่ควรจะเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CPTPP) ซึ่งการที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเชื่อว่าประโยชน์ที่ไทยจะได้รับน่าจะมีน้อยกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง ทั้งนี้ จากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ว่าจ้างบริษัท Bollinger ทำการศึกษาเรื่องผลดีผลเสียในการที่ไทยจะเข้าร่วม CPTPP ที่มีผลการศึกษาออกมาว่าถ้าไทยเข้าร่วมจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศเติบโตได้ 0.12% และการลงทุนขยายตัวได้ถึง 5% นั้น ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้จริง

เพราะผลการศึกษาดังกล่าวที่ว่า GDP จะโตได้ 0.12% นั้น พิจารณาเฉพาะจากการค้าสินค้าเท่านั้น แต่ไม่ได้รวมถึงการค้าบริการ และการลงทุน นอกจากนี้ ยังไม่ได้พิจารณารวมถึงอุปสรรคทางภาษี และปัจจัยลบอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้ตัวเลขจริงของ GDP ที่ได้มีโอกาสต่ำกว่านี้ ขณะเดียวกัน หากจะให้ GDP ขยายตัวได้มากขึ้น 0.12% จากระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ละปี ก็จะต้องมาจากการที่ไทยต้องใช้สิทธิใน CPTPP ได้อย่างเต็ม 100% ด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติคงทำได้ยากมาก เพราะแม้แต่การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยทั่วไปแล้ว พบว่าไทยมีการใช้สิทธิจากความตกลงดังกล่าวเต็มที่ก็เพียง 30-40% เท่านั้น

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ่งที่ทำให้ไทยสามารถประคองตัวเองจนอยู่รอดได้เป็นอย่างดี น่าจะมาจากพื้นฐานในสิ่งเหล่านี้ คือ 1.ความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ความมั่นคงทางยา และระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถดูแลประชาชนได้ดี ดังนั้นสิ่งใดที่จะมากระทบต่อการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ การเข้าถึงยาราคาถูก และการทำให้หน่วยงานที่ดูแลเรื่องยาของประเทศเกิดความอ่อนแอ ก็จะทำให้ประเทศไทยมีปัญหาในอนาคต

2. ประเทศไทยมีนโยบายสาธารณะที่เปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถประกาศห้าม/ยกเลิก การส่งออก-นำเข้าสินค้าบางอย่างได้ ในกรณีที่พิจารณาแล้วว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศ ซึ่งนโยบายสาธารณะนี้ จะเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องได้ หากไทยเข้าร่วมในความตกลง CPTPP

"การฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ใช่เพียงแค่มีเงินเท่านั้น แต่จะต้องมียุทธศาสตร์ที่ดีร่วมด้วย แต่คงจะทำไม่ได้ภายใต้การเข้าร่วม CPTPP เพราะผลที่จะได้รับทางเศรษฐกิจมีน้อยมาก ซึ่งอารมณ์ของสังคมไทยขณะนี้มองว่าเศรษฐกิจกำลังแย่ ประกอบกับผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ได้ทำให้เกิดความหวัง จึงรอว่าจะให้ CPTPP มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ" น.ส.กรรณิการ์กล่าว

พร้อมระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการ CPTPP ในวันที่ 5 ส.ค.นี้ ยังไม่มีประเทศใดยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงที่จะเข้าร่วมเจรจาดังกล่าว ดังนั้นประเทศไทยจึงยังสามารถเลื่อนการเข้าร่วมเจรจาออกไปเป็นปีหน้าได้

ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิวิถี (Biothai) กล่าวว่า การที่ไทยจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP นั้น มีเงื่อนไขร่วมด้วยว่าไทยจะต้องเข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่เพิ่มอำนาจการผูกขาดสายพันธุ์พืชใหม่ เนื่องจากมีการคุ้มครองพันธุ์พืชถึง 20 ปีสำหรับพันธุ์พืชทั่วไป และ 25 ปีสำหรับไม้ยืนต้น รวมทั้งห้ามให้เกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต นอกจากนี้ขอบเขตการคุ้มครองยังรวมไปถึงส่วนขยายพันธุ์ ตลอดจนผลผลิต และผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากพืชนั้นๆ ด้วย

นายวิฑูร กล่าวว่า แม้แต่องค์การสหประชาชาติ (UN) เองก็ยังไม่เห็นด้วยในเรื่องการห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ โดยได้มีคำแนะนำไว้ว่า หากประเทศต่างๆ ต้องการจะเจรจาการค้าเพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนนั้น ก็ไม่ควรจะยอมรับเงื่อนไขใน UPOV 1991 นี้ ขณะเดียวกัน UN กลับมองว่าหากประเทศใดต้องการที่จะคุ้มครองพันธุ์พืช ก็ให้ยึด Model จากกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ของประเทศไทยเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

"ดังนั้น การเข้าร่วม CPTPP จึงเท่ากับว่าไทยต้องฉีกกฎหมายที่เป็น Model ของโลกทิ้งไป" นายวิฑูรย์ ระบุ

ผู้อำนวยการไบโอไทย กล่าวว่า กระบวนการทางรัฐสภาถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้ประเด็นข้อถกเถียง และข้อกังวลของประชาชนได้เป็นที่รับทราบกันในวงกว้าง อย่างน้อยในระดับของ ส.ส. แต่สิ่งที่พึงระวังคือจะไปคาดหวังกับกระบวนการทางสภาฯ คงไม่ได้ เนื่องจากเสียงในสภาฯ เกินครึ่งล้วนมาจากพรรคฝ่ายรัฐบาล

ที่บอกว่าขั้นตอนการเข้า CPTPP ยังอยู่ในขั้น 3.5 ไม่จริง หากขั้นตอนในสภาฯผ่านไปได้ ขั้น 3.5 จนถึงขั้นให้สัตยาบันจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นประชาชนต้องลุกขึ้นมาประกาศจุดยืนว่าเราไม่อาจยอมรับความตกลงที่มีผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค ทั้งในเรื่องอาหาร, ยา เราต้องรีบแสดงออกในช่วง 30 วันนี้ เราเรียกร้องการคุ้มครองผลประโยชน์ของคนทั้งหมดในประเทศ ไม่ใช่บริษัทแค่ 1% ที่อยู่ในกระบวนการผลักดันเรื่องนี้" นายวิฑูรย์ระบุ

ทั้งนี้ สำหรับกระบวนการขอเจรจากับสมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 12 ขั้นตอน ดังนี้

1. ศึกษาประโยชน์-ผลกระทบความตกลง CPTPP

2. รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน

3. รวบรวมความเห็นและผลการศึกษา

4. นำเสนอคณะรัฐมนตรี

5. ยื่นหนังสือขอเจรจาต่อนิวซีแลนด์

ส่วนกระบวนการเจรจาความตกลง CPTPP

6. คณะกรรมาธิการสมาชิก CPTPP พิจารณาและเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงาน CPTPP เพื่อเจรจากับไทย

7. เจรจาข้อผูกพันและต่อรองขอข้อยกเว้น และความยืดหยุ่น รวมถึงระยะเวลาปรับตัวที่เหมาะสม

8. คณะทำงาน CPTPP เสนอคณะกรรมาธิการสมาชิก CPTPP เห็นชอบผลการเจรจา

9. เสนอผลการเจรจาต่อคณะรัฐมนตรี

10.เสนอผลการเจรจาต่อรัฐสภา (โดยขั้นตอนที่ 1-10 นี้ จะยังไม่มีผลผูกพันประเทศไทย)

11.ให้สัตยาบันความตกลง CPTPP

12.เข้าเป็นภาคีความตกลง CPTPP


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ