กกร.จัดเวทีเสวนา CPTPP ถกผลประโยชน์ชาติ สร้างความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนพิจารณาผลได้-เสีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 2, 2020 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กกร.จัดเวทีเสวนา CPTPP ถกผลประโยชน์ชาติ สร้างความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนพิจารณาผลได้-เสีย

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การพิจารณาเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) นั้น นอกจากประโยชน์ที่ไทยจะได้รับแล้ว จำเป็นจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบอย่างรอบด้านด้วย กกร. จึงได้จัดงานเสวนาเรื่อง "ความตกลง CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และ ประสบการณ์จากประเทศภาคี" เพื่อรับทราบข้อมูล ประสบการณ์ และแนวทางที่เป็นประโยชน์ รวมถึงมาตรการรองรับผลกระทบจากผู้แทนประเทศภาคี CPTPP ตลอดจนกระบวนการเจรจา ขั้นตอน และแนวทางการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

กกร.จัดเวทีเสวนา CPTPP ถกผลประโยชน์ชาติ สร้างความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนพิจารณาผลได้-เสีย

โดย กกร.หวังว่าข้อคิดเห็นและประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้เสวนาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อมุมมองของภาคธุรกิจเอกชน มีความเข้าใจในเชิงลึก และนำไปสู่การพิจารณาที่ถูกต้องในเรื่อง CPTPP ต่อไป

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดสัมมนา CPTPP ครั้งนี้ เป็นการแสดงความคิดเห็นให้ได้รับฟังว่าการเข้าร่วม CPTPP แล้วไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนและต้องตัดสินใจให้เร็วว่าไทยจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม

"วันนี้จะร่วมฟังความคิดเห็นด้วยความจริง ซึ่งเราเข้าไปร่วมเจรจา ไม่ใช่ไปร่วมในคณะฯ เป็นเรื่องที่คิดว่าเป็นจุดที่ดีที่ไทยสามารถเข้าร่วมเจรจาได้" นายกลินท์กล่าว

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร.ได้จัดตั้งคณะทำงานโดยมีนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องเพื่อทำหน้าที่ศึกษาถึงผลกระทบ ข้อเท็จจริง รวมทั้งประเด็นที่ดีและไม่ดีต่างๆ สำหรับประเด็นที่ไม่ดีต้องกลับมาศึกษาว่าสามารถเจรจาต่อรองได้หรือไม่ หากไทยได้เข้าร่วมในฐานะผู้ก่อตั้ง จะช่วยให้มีส่วนร่วมในการกำหนดกฎกติกาให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มากที่สุดได้

พร้อมมองว่า ไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทด้านเศรษฐกิจโลกพอสมควร โดยเฉพาะในอาเซียน แต่ยังกังวลในเรื่องเกษตร เมล็ดพันธุ์พืช และยา ที่ต้องมาทำความเข้าใจว่ากฎบัตรของ CPTPP ครอบคลุมลึกมากน้อยแค่ไหน ส่วนการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องมองสิ่งที่เราได้เปรียบ เช่น การเกษตรที่สามารถวิจัยและพัฒนาได้ เป็นต้น

Mrs. Tran Thi Thanh My ที่ปรึกษาการพาณิชย์ จากสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย กล่าวในการเสวนาว่า ในประเทศสมาชิก CPTPP เวียดนามยังไม่มี FTA กับ 3 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก และเปรู ภายหลังเข้าร่วม CPTPP ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 500 ล้านคนแล้ว เวียดนามคาดว่า CPTPP จะช่วยส่งเสริมการค้าและเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในสินค้าสิ่งทอ อาหารทะเล และสินค้าเกษตร

เวียดนามยังคาดหวังว่า CPTPP จะทำให้ภาคการบริการและการลงทุนเติบโตขึ้น มีบรรยากาศการค้าและการลงทุนใหม่ๆ เข้ามา สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดคือ ภายหลังการเข้า CPTPP แล้ว เวียดนามมีมูลค่าการค้าเกินดุลกับทุกประเทศ ยกเว้น ออสเตรเลีย โดยเวียดนามจะพยายามให้ข้อมูลและความรู้ในการใช้ประโยชน์จาก CPTPP แก่ผู้ประกอบการมากขึ้น ทั้งนี้ CPTPP อาจส่งผลกระทบทางลบแก่สินค้าบางประเภท เช่น ยานยนต์ เกษตร สินค้าแปรรูป และผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น

Mr. Hugh Robilliard รักษาการอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า CPTPP ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว การส่งออกของออสเตรเลียมีตัวเลขที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่ออสเตรเลียยังไม่เคยมี FTA ด้วยอย่างแคนาดาและเม็กซิโก โดยออสเตรเลียคาดหวังว่าจะสามารถส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพอย่างเช่นน้ำตาล รวมถึงการส่งออกภาคบริการอย่างเช่น ด้านการศึกษา โดยในการประเมินช่วง 1 ปีที่ผ่านมาที่ออสเตรเลียเข้าร่วม CPTPP ยังมองไม่เห็นภาพการเติบโตทางการค้าที่ชัดเจนมากนัก แต่คาดว่าหลังจากนี้ การค้าการลงทุนจะมีแนวโน้มที่เติบโตมากขึ้น

สำหรับผลกระทบจากการเข้าร่วมเจรจา CPTPP กล่าวได้ว่า จะแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่แต่ละประเทศต้องสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในประเทศของตนเอง โดยออสเตรเลียแสดงความยินดีที่ไทยจะพิจารณาเข้าร่วมเจรจา CPTPP โดยให้ความเห็นว่า การที่จะทำให้เกิดการยอมรับ CPTPP ควรให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล การเข้าถึงข้อมูลการเจรจา การสังเคราะห์ข้อบทต่างๆ ในภาษาที่เข้าใจง่าย และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ทุกภาคส่วนยอมรับการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP

Mr. Ryohei Gamada นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส (เอเชีย) จาก JETRO กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีการวิเคราะห์อย่างเป็นทางการว่า CPTPP ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นปีที่ผ่านมาเติบโต 1.5% หรือคิดเป็น 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยญี่ปุ่นมองว่าการเข้าร่วม CPTPP ทำให้ญี่ปุ่นมีประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแคนาดา และนิวซีแลนด์ ที่ญี่ปุ่นยังไม่มี FTA ร่วมกัน หากเมื่อเทียบกับกรอบ FTA ที่ญี่ปุ่นมีกับไทย (JTEPA) หรือญี่ปุ่นกับอาเซียน (AJCEP) พบว่า CPTPP มีอัตราการลดภาษีที่ครอบคลุมมากกว่า อีกทั้งในเรื่องการรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร CPTPP มีกลไกที่ดีกว่า

ในส่วนของผลกระทบด้านลบ ภาคเกษตรคือภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหาโดยการเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานการผลิต รวมทั้งการมี FTA หลายอันอาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการใช้แบบฟอร์มต่างๆ ได้ โดยญี่ปุ่นมีการทำ CPTPP Guideline เพื่อให้ข้อมูลที่เข้าใจง่าย และการจัดสัมมนาทั่วประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจ CPTPP มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ