สมาชิกกลุ่ม Care เตือน"รัฐบาล"เร่งกู้วิกฤติเศรษฐกิจก่อนล่มสลายจากปัญหากองหนี้ SME จ่อถาโถม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 27, 2020 11:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาชิกกลุ่ม Care เตือน

นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Care กล่าวว่า ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียงเดือนกว่าเท่านั้นที่มาตรการพักหนี้ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จะสิ้นสุดลงในเดือน ต.ค.นี้ โดยธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ยังประสบปัญหาอยู่ต้องเตรียมพร้อมรับมือด้วยการหารือกับธนาคารเจ้าหนี้ว่ามีหนทางใดบ้างที่จะพอชะลอการจ่ายหนี้ออกไปได้อีกบ้าง หรือมีทางใดที่จะได้ soft loan มาปรับธุรกิจให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้บ้าง

อยางไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ประกอบการ 3 ใน 4 ของกลุ่มดังกล่าวจะถูกปฏิเสธความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากธนาคาร เพราะหากให้เงินกู้ยืมเพิ่ม โอกาสที่จะเป็นหนี้เสียนั้นมีถึง 70% ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ และหนี้เสียเหล่านั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะรับผิดชอบไม่ถึง 30% ธนาคารพาณิชย์จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนี้เสียเหล่านั้นเอง ดังนั้น เพื่อไม่ให้ตัวเองเดือดร้อน การไม่ปล่อยกู้ให้คุณนั้นน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จึงเดินหน้าไปสู่กองหนี้ขนาดมหึมาที่กำลังถาโถมเข้ามา รายได้มากกว่า 70% ของธุรกิจเหล่านั้นพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นสำคัญ เมื่อรัฐบาลมีคำสั่งเด็ดขาดให้ปิดประเทศเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 แบบไม่มีการผ่อนปรนใดๆ แม้ว่าจะหยุดการแพร่ระบาดได้ แต่ในขณะเดียวกันก็กำลังเอาไฟเผาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนั้นให้ตายไปอย่างรวดเร็ว

และจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือใดๆ ที่เป็นรูปธรรมออกมาจากภาครัฐเลย ตรงกันข้ามกลับต้องเจอกับการไล่เก็บภาษีทุกเม็ด และเก็บค่าสาธารณูปโภคย้อนหลัง และกำลังจะเจอการติดตามหนี้ของธนาคารอย่างหนักหน่วงในอีก 1 เดือนข้างหน้า ขณะที่ไม่ปล่อย soft loan เพราะกลัวหนี้เสียเพิ่ม ซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤติหนี้เสียครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

"เราคาดว่าธุรกิจรวมกันกับบุคคลจะก่อให้เกิดหนี้เสียมากกว่า 7 ล้านล้านบาท และถึงจุดนั้นคือการเดินทางสู่ก้นเหวโดยสมบูรณ์ และแทบจะไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาใดๆ ได้ทันอีกต่อไป ค่าเงินบาทจะตกต่ำไปทันที ธนาคารหลายแห่งจะประสบปัญหาอย่างหนัก และตอนนั้นต่อให้คุณเป็นข้าราชการหรือนายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีใครจะรอดจากวิกฤตินั้นไปได้"นายดวงฤทธิ์ กล่าว

หนทางที่จะรอดจากวิกฤตินี้ ในอีก 1 เดือนข้างหน้า จึงเหลือทางเลือกไม่มากนัก และต้องลงมือทำอย่างรวดเร็ว คือ

1. ธปท.ต้องประกาศให้ธนาคารพาณิชย์อัดฉีดเงินกู้เข้าในระบบของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กให้ได้ 2 ล้านล้านบาทภายใน 2 เดือนข้างหน้า โดย ธปท.ต้องเป็นผู้ค้ำประกันวงเงินกู้นั้นทั้งหมด โดยให้เริ่มผ่อนจ่ายคืนในอีก 4 ปีข้างหน้า

2. เปิดให้เกิดการเข้ามาของนักท่องเที่ยวให้ได้เร็วที่สุดและปลอดภัยที่สุด เพราะการตรวจโควิด-19 สามารถทำได้โดยใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง หากเริ่มทำมาตรการจริงจังตั้งแต่เดือนหน้านี้ก็ยังมีความหวังที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวอย่างปลอดภัยในช่วงปลายปีบ้าง เพราะประเทศไทยอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออก โดยแนะนำให้เริ่มเปิดที่ภูเก็ตก่อนทันทีในเดือนหน้า เพื่อเป็นการทดลองและเตรียมการสำหรับการเปิดทั้งประเทศในลำดับต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ