ETDA วางเป้าเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์-กำกับดูแล ป้องกันการหลอกลวงออนไลน์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 28, 2020 13:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กล่าวในงาน" GO DIGITAL WITH ETDA" ถึงนโยบายก้าวต่อในปี 64 ว่า นโยบายและแผนการดำเนินงานในปี 64 ETDA จะเดินหน้าดำเนินงานผ่าน 3 โครงการที่จะยกระดับการขับเคลื่อนจากปี 63 ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นดังนี้ 1.การนำการขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการสร้างกลไกขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของของประเทศ ผ่านแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน พร้อมผลักดันแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมให้ทุกภาคส่วนนำไปกำหนดแนวทางการพัฒนาในทิศทางเดียวกันพร้อมจัดการสำรวจวิจัยที่ทำให้มองภาพอนาคต (Foresight) ชัดเจนขึ้นสู่การกำหนดนโยบายทิศทางการดำเนินธุรกิจและการทำการตลาดรวมถึงเสริมสร้างทักษะด้านอีคอมเมิร์ซเพื่อพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ความต้องการของตลาดยุคดิจิทัลไปพร้อมๆ กับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ยกระดับการคุ้มครองโดยการสร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลกับเครือข่ายทำให้การคุ้มครองมีความรวดเร็วขึ้น

2.การเร่งเครื่องกลไกดูแลธุรกิจดิจิทัลด้วยการจัดทำหลักเกณฑ์กฎหมายมาตรฐานรวมถึงแนวปฏิบัติในการดูแลธุรกิจดิจิทัลและบริการที่สำคัญพร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการใช้บริการธุรกิจบริการด้านดิจิทัลที่เปิดให้บริการไปแล้วและกำลังจะเปิดให้บริการเช่นบริการด้าน e-Meeting บริการด้าน Digital ID ด้วยระบบการตรวจประเมินที่มีมาตรฐาน

3.การเสริมฐานรากแพลตฟอร์มดิจิทัลของรัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมผู้ประกอบการและประชาชนได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วมั่นใจปลอดภัยด้วยการพัฒนาแบบจำลองมาตรฐานและแบบจำลองข้อมูล (Data Model) แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานสนับสนุนศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ Digital ID และ e-Signature สร้างความพร้อมความตระหนักแก่บุคลากรภาครัฐผ่านการอบรมพร้อมให้บริการเฝ้าระวังตอบสนองและจัดการภัยคุกคามไซเบอร์ให้กับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและบริการออนไลน์ของหน่วยงานภาครัฐ

"ETDA ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 65 ประเทศจะต้องมีภูมิทัศน์ด้านบริการดิจิทัลที่ได้มาตรฐานหรือ Digital Services Landscape ที่ครบถ้วนเพื่อเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมถึงเกิดระบบนิเวศ Digital ID หรือ Digital ID Ecosystem สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเพื่อจะนำไปสู่การใช้งาน Digital ID ในวงกว้างและหน่วยงานรัฐจะต้องมีระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Service และระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-office ภายใต้มาตรฐานกฎเกณฑ์และการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริงของ ETDA ที่จะพาทุกภาคส่วน Go Digital ไปพร้อมกัน" นายชัยชนะ กล่าว

นายชัยชนะ กล่าวว่า ETDA มีเป้าหมายสำคัญคือ Go Digital with ETDA หรือการเป็นองค์กรขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันกับสถานการณ์โลก ภายใต้บทบาทหน้าที่หลักคือการส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างบูรณาการ และสุดท้ายคือการกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัลสร้างความน่าเชื่อถือรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลด้วยงานสำคัญ ทั้งการกำกับดูแลธุรกิจบริการด้านดิจิทัลพัฒนามาตรฐานและกฎหมายด้านดิจิทัล การพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล ไอดีการป้องกันการหลอกลวงทางออนไลน์ และการพัฒนาความพร้อมของคนดิจิทัล

สำหรับในปี 2563 ETDA ได้ส่งมอบงานสำคัญผ่าน 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการ Digital Governance เพื่อให้ทุกภาคส่วนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมั่นใจมีกลไกกำกับดูแลที่น่าเชื่อถือผ่านกฎหมายและมาตรฐานสำคัญ ๆ เช่น ร่าง พ.ร.ฎ.Digital ID เพื่อรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัลไอดีเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่เชื่อถือได้สะดวกรวดเร็ว และร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจการให้บริการออกใบรับรองเพื่อสนับสนุนลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (CA) รวมทั้งการออกข้อเสนอแนะฯ มาตรฐานแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายลดความเสี่ยง รวมถึงผลักดันเรื่องระบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Meeting ทั้งการออกกฎหมายและมาตรฐานในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาซึ่งช่วยปลดล็อกกฎหมายที่มีอยู่เดิมและช่วยรับรองผู้ให้บริการระบบประชุมเพื่อให้ผู้ใช้เกิดความเชื่อมั่นในระบบที่ใช้งานด้วย พร้อมเปิด Digital Service Sandbox เพื่อทดสอบการใช้นวัตกรรมหรือบริการดิจิทัลใหม่ ๆ ให้สอดคล้องข้อกฎหมายหรือมาตรฐานต่าง ๆ ก่อนการใช้งานจริง

2.โครงการ Speed-up e-Licensing เร่งเครื่องระบบดิจิทัลในบริการภาครัฐเพื่อลดค่าใช้จ่ายและให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็ว โดยการพัฒนาบริการของรัฐให้เป็นบริการดิจิทัลผ่านโครงสร้างข้อมูล (Schema) การออกใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานของภาครัฐให้เป็นระบบดิจิทัลพร้อมสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับบริการดิจิทัลของด้วยการตรวจประเมินรับรองระบบสารสนเทศและการใช้บริการ e-Timestamping ประทับรับรองเวลาของ e-Document 606

3.โครงการ Digital Transformation ให้ภาครัฐมีระบบดิจิทัลที่มั่นคงปลอดภัยห่างไกลภัยไซเบอร์ด้วยโครงการ Government Threat Monitoring System (TM) เฝ้าระวังภัยไซเบอร์ให้กับหน่วยงานรัฐพร้อมเตรียมพัฒนาแพลตฟอร์ม Threat Watch ยกระดับการเฝ้าระวังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

4.โครงการ Thailand -Commerce Sustainability ลดเหลื่อมล้ำเพิ่มรายได้ด้วยอีคอมเมิร์ชอย่างยั่งยืนผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพอีคอมเมิร์ซชุมชนทั่วประเทศรวมถึงการพัฒนาหลักสูตรด้านอีคอมเมิร์ซปูทางความพร้อมให้กับนักเรียน (ทสรข.) นักศึกษา (มศว, เอแบค ฯลฯ ) เพื่อป้อนตลาดแรงงานยุคดิจิทัลเปิดหลักสูตรออนไลน์เพื่อให้คนไทยเรียนรู้ได้ผ่านแพลตฟอร์มของเอ็ตด้าและสำนักงาน ก.พ. พร้อมผลักดันแผนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อกำหนดทิศทางพัฒนาให้ทุกภาคส่วนตลอดจนเดินหน้าสำรวจการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยมูลค่าอีคอมเมิร์ชประเทศไทยและสถิติต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับไปวางแผนการตลาดและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ได้

5.โครงการ Stop e-Commerce Fraud ทั้งคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์เชิงรุกผ่านการนำเครื่องมือ Social Listening วิเคราะห์ข้อมูลในโลกออนไลน์เพื่อนำมาแจ้งเตือนภัยก่อนเกิดเหตุหรือลุกลามและการจัดอบรมและเสริมสร้างความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่สนใจเพื่อให้ประเทศไทยมีกำลังคนด้านไซเบอร์เพิ่มขึ้น

ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Future of Digital Economy and Society ว่า สิ่งที่ควรทำในการพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มี 2-3 เรื่อง คือ การดูแลแก้ไขกฎหมายให้ไปข้างหน้าทันกับความเปลี่ยนแปลง ถัดมาคือการทำมาตรฐานของเทคโนโลยีที่เหมาะสมในให้บริการในธุรกิจ เมื่อมีมาตรฐานแล้วสิ่งที่ต้องทำต่อคือการตรวจสอบให้ผู้พัฒนาหรือผู้ให้บริการเทคโนโลยีนั้นดำเนินการตามมาตรฐาน บทบาทของ ETDA ที่ไม่เคยทำมาก่อนคือการเป็นผู้กำกับดูแลการทำธุรกรรมให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย มาตรฐานทางดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความจำเป็นต้องทำและต้องเกิดขึ้น

"สิ่งที่ผมอยากเห็นจาก ETDA คือ ทำให้เรามี Thailand Single Platform หรือการมีแพลตฟอร์มเดียว แพลตฟอร์มของไทยที่ใช้ในการร้องเรียนร้องทุกข์เป็นการเอาระบบดิจิทัลมาใช้ในการรับเรื่องร้องเรียนช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน แล้วส่งต่อให้หน่วยงานที่กำกับดูแลเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน" นายพุทธิพงษ์ กล่าว

รมว.ดีอีเอส กล่าวว่า การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้บริการภาครัฐหรือการทำธุรกรรม ถ้าเรายังยืนยันตัวตนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้จะกลายเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ ประกอบกับเกิดผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จึงอยากให้ ETDA ช่วยคิดและทำสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตใหม่ทางดิจิทัลสำหรับประชาชน (New Normal)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ