(เพิ่มเติม) ส.อ.ท.เผยดัชนีอุตฯ ก.ย.63 ปรับขึ้นต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในปท.-ภาคการผลิตขยายตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 19, 2020 12:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย.63 อยู่ที่ระดับ 85.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 84.0 ในเดือนส.ค.63 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มีปัจจัยบวกจากอุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวขึ้น รวมทั้งการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงที่ผ่านมา ช่วยให้กำลังซื้อในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณ การผลิต และผลประกอบการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในสินค้าคงทนและไม่คงทน ขณะที่ภาคการส่งออกและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเริ่มมีสัญญาณที่ดี ภายหลังจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ทำให้ประเทศคู่ค้านำเข้าสินค้าจากไทยได้มากขึ้น

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 93.3 จากระดับ 94.5 ในเดือนส.ค.63 ทั้งนี้ ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ภายใต้ความกังวลต่อการระบาดรอบ 2 ของโรคโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลายประเทศมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง อันเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไป นอกจากนี้ การสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในเดือนต.ค. อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธุรกิจและกำลังซื้อในประเทศ

ประธาน ส.อ.ท.ได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้ 1. เร่งเบิกจ่ายงบประมาณผ่านโครงการลงทุนภาครัฐ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 2. ออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ภายหลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในเดือนต.ค. 3.สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตจากผู้ประกอบการในประเทศ

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ถึงแม้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนก.ย.63 จะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความกังวลเนื่องจากดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงทุกตัว โดยภาคอุตสาหกรรมหลายสาขาเริ่มฟื้นตัว ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ส่วนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนนั้น ส.อ.ท.จะเน้นการใช้แรงงานถูกกฎหมาย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับปัญหาการชุมนุมทางการเมืองนั้น ยอมรับว่ามีความกังวล ซึ่งหวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือกัน แต่เกรงว่าจะมีมือที่สามเข้ามาแทรกแซงจนส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยจะเห็นว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีท่าทีในการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

"การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นประเด็นใหญ่ที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน ก็ทำไปก่อน ส่วนประเด็นอื่น ก็ถอยกันคนละก้าว หากยืดเยื้อนานไป จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ" นายสุพันธุ์ กล่าว

พร้อมเชื่อว่า ภายในเดือน ต.ค.นี้ น่าจะมีแนวทางการแก้ปัญหาออกมา ซึ่งไม่ควรให้ยืดเยื้อ หากการชุมนุมยังเป็นไปอย่างสงบ ไม่มีการทำลายทรัพย์สิน การทำร้ายกัน ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อความความเชื่อมั่น

ด้านนายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้มีขึ้นก่อนเกิดเหตุสลายการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการสำรวจครั้งหน้า แต่หวังว่าจะมีการแก้ไขปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองให้คลี่คลายลงได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ