รัฐ เร่งแผนซื้อไฟพลังงานทดแทน เข้าระบบปี 63-67, โรงไฟฟ้าชุมชนเข้าปี 66

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 6, 2020 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐ เร่งแผนซื้อไฟพลังงานทดแทน เข้าระบบปี 63-67, โรงไฟฟ้าชุมชนเข้าปี 66

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ปรับแผนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานทดแทน เพื่อให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงปี 2563-2567 ดังนี้

1. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar ภาคประชาชน/พลังงานแสงอาทิตย์อื่น ๆ) กำลังผลิตรวม 250 เมกะวัตต์ (MW) เข้าระบบปี 2563 ? 2567 หรือ ปีละ 50 เมกะวัตต์

2. โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน กำลังผลิตรวม 400 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2565

3. โครงการชีวมวลประชารัฐ (ศอ.บต.) กำลังผลิตรวม 120 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2565-2566 หรือปีละ 60 เมกะวัตต์

4. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม กำลังผลิตรวม 270 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2565-2567 หรือ ปีละ 90 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน จัดทำนโยบายเปิดรับซื้อ และกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับแต่ละโครงการ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการออกระเบียบ ประกาศรับซื้อ/คัดเลือก ต่อไป โดยจะพิจารณาความเหมาะสมการรับซื้อไม่ให้กระทบกับระดับกำลังผลิตสำรอง หรืออาจปรับเลื่อนกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้เหมาะสม ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเปิดรับซื้อไฟภายในเดือน ม.ค.64

อนึ่ง ตามแผน PDP2018 เดิมนั้น ในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน แม้จะทยอยเปิดรับซื้อไฟฟ้าต่อเนื่อง แต่การรับซื้อไฟฟ้าเพื่อจ่ายเข้าระบบนั้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่กลางแผน หรือช่วงปี 2570 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาดว่าโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะมีราคาที่แข่งขันได้และจะไม่เป็นภาระต่อค่าไฟฟ้ามากเกินไป

นายกุลิศ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการลดระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ในระยะสั้นนั้น จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยลดต่ำลง กระทบต่อการบริหารจัดการพลังงานในภาพรวม และอาจเป็นเหตุให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระค่าไฟฟ้าต่อประชาชนได้ ดังนั้น กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการหารือร่วมระหว่าง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อพิจารณาแนวทางการลดระดับ Reserve Margin ในระยะสั้น โดยมีแนวทางเบื้องต้น เช่น การขายไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และ การเร่งปลดโรงไฟฟ้าเก่าออกจากระบบเร็วขึ้น (Buy Out) เป็นต้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายใน 6 เดือน

นอกจากนี้กระทรวงพลังงานมีแผนที่จะจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าใหม่ (แผน PDP2022) โดยในช่วง 6 เดือนข้างหน้า กระทรวงพลังงานจะเริ่มกระบวนการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต โดยสนพ.ได้จ้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดทำโมเดลพยากรณ์ค่าพยากรณ์ฯ และทบทวนค่าพยากรณ์ฯ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2564

พร้อมกับจะนำผลการศึกษาของ สนพ. ที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานมาประกอบการ จัดทำแผน PDP2022 เช่น การจัดทำ PDP รายภูมิภาค ความเหมาะสมของสัดส่วนโรงไฟฟ้าฐาน ระดับกำลังผลิตสำรองที่เหมาะสม รวมถึงทิศทางการลดการปล่อย CO2 ตาม National Dispatch Center (NDC) ในภาคพลังงานของประเทศ

ขณะเดียวกันในช่วง 6 เดือนข้างหน้า กระทรวงพลังงานจะจัดประชุมสัมมนารับฟังความเห็น และรับทราบความต้องการ ปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อใช้ประกอบการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ โดยรวม 5 แผนพลังงาน ประกอบด้วย แผน PDP ,แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) , แผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ (EEP) , แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมัน (Oil Plan) ให้เป็นแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) แผนเดียวกัน ตามข้อเสนอแนะของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยคาดว่าแผนดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 และจะเสนอ กพช. และ ครม. เห็นชอบต่อไป

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สนพ. เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนั้น ล่าสุดปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่จะรับซื้อตามโครงการ Quick Win กำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างโรงไฟฟ้าเสร็จแล้วแต่ไม่สามารถขายไฟฟ้าได้ก่อนหน้านี้ เพราะติดปัญหาสายส่งในอดีต แต่ปัจจุบันสายส่งได้มีการปรับปรุงแล้ว หรือเป็นโรงไฟฟ้าที่ยังไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) นั้น ก็จะหันมาใช้โควตาการรับซื้อไฟฟ้าของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ที่ถูกยกเลิกในบางโครงการ เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการได้ตาม PPA ของกกพ.

ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าประเภท Quick Win ครั้งนี้ จะอยู่ภายใต้ชื่อโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล ซึ่งจะเปิดรับซื้อประมาณ 100 เมกะวัตต์ ในช่วงต้นปี 64 โดยต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล และก๊าซชีวภาพ มีกำหนดราคารับซื้อเบื้องต้นไม่เกิน 2.44 บาท/หน่วย โดยใช้วิธีการแข่งขันด้านราคาเพื่อให้ไม่ก่อให้เกิดภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้า

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ตามกรอบของแผน PDP2018 Rev.1 กำหนดเป้าหมายรับซื้อ 1,933 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2563-2567 นั้น จะเปิดรับซื้อตามโครงการนำร่องในปริมาณไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเปิดรับซื้อได้ในเดือนม.ค.64 และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2566 โดยนโยบายการรับซื้อจะเป็นรูปแบบที่ให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรและชุมชนสูงสุด โดยมีขนาด 3-6 เมกะวัตต์/โรง และเป็นรูปแบบการประมูลแข่งขันด้านราคา โดยคำนึงถึงศักยภาพสายส่ง/สายจำหน่ายไฟฟ้าที่จะมารองรับ ศักยภาพของเชื้อเพลิงที่มีอยู่ในพื้นที่ส่งเสริมพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกระดับรายได้ประชาชน

ทั้งนี้ จะประเมินผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการนำร่องก่อนนำไปพิจารณาขยายผลในเป้าหมายรับซื้อส่วนที่เหลือ ซึ่งหากไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ อาจจะพิจารณายกเลิกการดำเนินโครงการในส่วนที่เหลือ

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm ปี 2560 ที่มีผู้ชนะประมูลประมูลทั้งหมด 17 โครงการ มีปริมาณเสนอขายรวม 300 เมกะวัตต์นั้น ปัจจุบันมีเพียง 3 รายที่ได้ลงนามสัญญา PPA แล้วแต่ที่เหลืออีก 14 ราย ผิดสัญญาลงนาม PPA ซึ่งมีปริมาณไฟฟ้ารวมประมาณ 100 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามแม้ กกพ.จะเปิดให้ผู้ประกอบการทั้ง 14 รายยื่นเสนอแผนสร้างโรงไฟฟ้าเมื่อปลายเดือน ต.ค.63 เพื่อพิจารณาขยายสัญญา PPA ให้ แต่เมื่อพิจารณาแผนงานที่เสนอมาพบว่า ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าได้จริง จึงต้องโยกปริมาณไฟฟ้าดังกล่าวให้กับโครงการโรงไฟฟ้าขยายผลแทน

ทั้งนี้ คาดว่า กกพ.จะสรุปผลว่าจะคงเหลือผู้ประกอบการกี่รายที่ได้ต่อสัญญา PPA ตามโครงการโรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm และจะมีปริมาณไฟฟ้าที่แท้จริงเหลือให้โครงการโรงไฟฟ้าขยายผลกี่เมกะวัตต์ ซึ่ง กกพ.จะสรุปผลให้กระทรวงพลังงานทราบภายในเดือนพ.ย. 63


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ