รมว.คลัง แนะธนารักษ์เพิ่มมูลค่าพัฒนาที่ราชพัสดุ ทำประโยชน์เชิงศก.-สังคม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 9, 2020 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมว.คลัง แนะธนารักษ์เพิ่มมูลค่าพัฒนาที่ราชพัสดุ ทำประโยชน์เชิงศก.-สังคม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กรมธนารักษ์ว่า ได้มอบนโยบายที่สำคัญ 6 เรื่อง ได้แก่ 1. ให้ทบทวนการประเมินราคาที่ดินรอบใหม่ที่จะประกาศใช้ในปี 2565 โดยประสานกับกรมที่ดิน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบในการประเมินราคาที่ดินรอบใหม่

เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นมาก จึงต้องนำองค์ประกอบทั้งหมดมาพิจารณาในการปรับราคาประเมินให้ครบ เพราะบางพื้นที่มีความเจริญ มีศูนย์การค้า มีรถไฟฟ้า และมีมอเตอร์เวย์ ดังนั้นการประเมินราคาที่ดินจึงต้องทำให้ใกล้เคียงกับราคาที่มีการซื้อขายจริง

"กรมธนารักษ์ จะต้องเข้าไปสำรวจทุกพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของการพัฒนา การประเมินราคาที่ดินรอบใหม่ ต้องนำปัจจัยเรื่องการลงทุนภาครัฐมาประกอบด้วย ตรงนี้ก็จะเป็นรายได้ที่จะกลับเข้ามา" นายอาคม กล่าว

2. การใช้ที่ราชพัสดุให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเป็นนโยบายที่กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการมาต่อเนื่อง และขณะนี้มีหลายโครงการที่จะพัฒนาที่ราชพัสดุในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการดำเนินงานพัฒนาที่ราชพัสดุเชิงสังคม เช่น ความร่วมมือกับโรงพยาบาลรามาธิบดี ในโครงการที่พักอาศัยผู้สูงอายุ

3. เพิ่มบทบาทให้บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) เป็นตัวนำในการพัฒนาโครงการบนพื้นที่ราชพัสดุ โดยดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบสัญญาเช่า เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้รัฐมากขึ้น

4. เชื่อมโยงที่ราชพัสดุกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยให้ ธพส. เข้ามาพัฒนาโครงการ และให้ ธอส. ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ต้องการมีที่อยู่อาศัย

5. ในช่วงที่ไทยยังไม่สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้นั้น ให้กรมธนารักษ์เร่งพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะในภาคใต้ พัฒนาท่าเรือทั้งบนเกาะ และบนฝั่งว่าจะมีการปรับปรุงอย่างไร เช่น เกาะพีพี เพราะยังมีช่วงเวลาอีก 1-2 ปี ให้ฟื้นฟูกว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวจะกลับมาปกติ โดยให้ประสานกับกระทรวงคมนาคมว่าจะดำเนินการอย่างไร

6. ดูแผนการจัดทำเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัล ซึ่งไทยกำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ทำให้ความจำเป็นในการใช้เหรียญน้อยลง จึงต้องพิจารณาแผนการผลิตเหรียญให้สอดคล้องมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ