ศุภวุฒิ ฟันธงศก.ไทยปี 64 ยังเผชิญความไม่แน่นอนหลังโควิดยังระบาด-หนี้เสียปูด

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday November 21, 2020 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในงาน SET in the city 2020 หัวข้อ "Investment Trend 2021"ว่าในระยะสั้นภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกก็ยังไม่ดีจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็ยังมีการระบาดรุนแรง ก็ยังมีความหวังการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ทั้งนี้ คาดหวังครึ่งหลังปี 64 จะรับวัคซีนที่จะช่วยหยุดยั้งการระบาดโควิด-19 จึงมองว่าเศรษฐกิ่จโลกในครึ่งแรกปี 64 ก็ยังกระท่อนกระแท่น แต่ครึ่งปีหลังเริ่มเข้าสู่การปรับตัว

ในครึ่งแรกปีหน้า การระบาดที่หนักขึ้นของโควิด จะหนักขึ้นไปอีกที่สหรัฐฯและ ยุโรป เพราะอยู่ในฤดูหนาวการระบาดจนถึงเดือนก.พ.ที่คลายหนาว และการคลายอำนาจสหรัฐที่ประธานาธิบดีทรัมป์ขัดขวางการเปลี่ยนผ่าน จะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัว ขัยเคลื่อนนโยบายการคลัง จะเห็นว่าเฟดออกมาระบว่าจะนำนโยบายการเงินหนุนการขับเคลื่อนไปช่วงนโยบายการคลังเกิดสูญญากาศ ซึ่งกระทบเงินดอลลาร์อ่อนค่าและบาทแข็ง ซึ่งของเรายังไม่มีการฟื้นตัวที่แข็งแรงนัก ถ้าเงินบาทแข็งค่าก็จะไม่ค่อยไปได้เท่าไร

ขณะเดียวกันความคืบหน้าเรื่องวัคซีน น่าจะพัฒนาการไปได้อย่างไร ตามที่คาดการณ์ที่บริษัทผู้ผลิต คาดว่าจะจำนวนวัคซีน น่าจะเข้ามาครึ่งหลังปีหน้าและมีปริมาณมากพอจะช่วยคนสหรัฐและยุโรปได้ครบถ้วน รวมประชาการ 300 ล้านคน แต่คงยังไม่ถึงไทยเร็วนัก ซึ่งไม่มีการระบาดโรค เราไม่ต้องรีบประมูลซื้อวัคซีน อย่างไรก็ดีจะทำให้ไทยชะลอการเปิดประเทศซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยยากลำบาก

นายศุภวุฒิ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนในปี 64 เพราะยังมีเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ยุติการผ่อนปรนการชำระหนี้ทั่วไป ซึ่งมีลูกหนี้ 12.5 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 6.8-6.9 ล้านล้านบาทที่ขอให้รับการผ่อนปรน ซึ่งขณะนี้การผ่อนปรนยุติไปแล้วและธนาคารค่อยๆเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งตรงนี้เป็นความไม่แน่นอนค่อนข้างสูงที่จะกระทบทั้งสถาบันการเงินและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจว่าทิศทางจะไปอย่างไร ความไม่แน่นอนดังกล่าวจะกระทบกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับหนึ่งเลย เพราะว่าสิ่งที่ธนาคารจะทำย่อมต้องกระทบกับธุรกิจต่างๆที่จะฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน

ธนาคารเองก็มีความกังวล พยายามดูแลไม่ให้ตัวเองเสียหายมากนัก ซึ่งมีพูดคุยกันว่าจะมีการตั้ง AMC หรือหาพื้นที่รวบรวมสินทรัพย์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งอาจจะเป็นทางออกของธนาคาร ที่จะไม่ต้องการให้เกิดการขายสินทรัพย์และทำให้ราคาตกต่ำรุนแรง แต่อีกด้านหากนำสินทรัพย์มารวมที่เดียวกันโดยไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็เป็นไปอย่างช้าๆ เพราะมีสินทรัพย์ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ทำอะไร เอาไปกองไว้เฉยๆ

นอกจากนี้การทำเช่นนี้ก็จะกระทบกับแรงงาน ที่ไม่ได้สร้างงานได้มากนักโดยที่ผ่านมาก็มีคนตกงานมาแล้วและบางรายก็เปลี่ยนไปอยู่ภาคเกษตรหรือภาคอื่นก็ทำให้รายได้ลดน้อยลงไป และจะกระทบกับกำลังซื้อ จะกระทบกับภาคเอกชนไทยโดยรวมอย่างค่อนข้างมีนัยสำคัญ ตรงนี้ยังไม่เห็นการสร้างโอกาสหรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ชัดเจน แต่แน่นอนรัฐบาลเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภค เป็นเรื่องๆไป

"แต่ความเห็นของผมควรมียุทธศาสตร์ใหญ่ที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยไปในทิศทางใด ถ้ารัฐบาลสามารถชี้นำได้ว่าประเทศไทยจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ไม่ใช่ปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท ของเอสเอ็มอี แต่หากปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางใดก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการชี้นำหรือชักชวนให้เอกชนต่างๆหันมาทำการลงทุน เปลี่ยนทรัพยากรไปสู่เซคเตอร์ที่รัฐบาลชี้นำไป หากรัฐบาลไม่ได้ชี้นำ เราก็ต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศซึ่งคาดว่าจะต้องรอไปถึงครึ่งหลังปี 64 ซึ่งการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะเป็นการฟื้นตัวจากภายในก่อน ไม่ต้องการให้ฟื้นในต่างประเทศก็อาจลำบาก"นายศุภวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เราได้ทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง แต่กว่าจะทำสัตยาบันได้ก็คาดว่าเป็นกลางปี 64 อย่างเร็ว หรือสหรัฐฯจะไปฟื้นกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(CPTPP) ไทยก็ต้องคิดหนัก เพราะไทยไม่ได้อยู่ CPTPP แต่เวียดนามที่เป็นคู่แข่งกับเราอยู่ใน CPTPP ดังนั้นก็ต้องดูว่าการค้าระหว่างประเทศทิศทางจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่จะไม่มีนโยบายชนกับจีน

แต่อีกด้านที่เป็นโจทย์ใหญ่ของไทย คือด้านการท่องเที่ยวเราจะสามารถพลิกฟื้นการท่องเที่ยวของไทยมีประสิทธิภาพอย่างไร ทั้งนี้ ธปท.และบล.ภัทร ก็คาดการณ์ว่าในปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยได้ประมาณกว่า 6 ล้านคน ซึ่งจำนวนนี้เทียบไม่ได้กับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาก่อนโควิด ที่ไทยเคยรองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศถึง 40 ล้านคน และปีต่อๆไป จำนวนนักท่องเที่ยวก็ยังไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้เร็ว เพราะคาดว่าพฤิตกรรมการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปมากหลังโควิด การจะกลับมาให้มีจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนคงทำได้ยาก ฉะนั้น สิ่งที่อาจจะทำได้ หากจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาปีละ 10-15 ล้านคนว่าจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นกว่าเดิมจากเดิมที่เคยใช้จ่าย 50,000 ล้านบาท ก็คงต้องปรับการท่องเที่ยวให้เพิ่มมูลค่ามากขึ้น อาจเพิ่มเรื่องของ Wellness หรือ Medical Tourism ฉะนั้นการลงทุนของไทยคงต้องหาวิธีการในการใช้ทรัพยากรต่อยอดอย่างไร เป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น หรืออาจจะนำจุดขายที่ไทยมีสาธารณสุขที่ป้องกันโควิด-19มีความเสี่ยงน้อย นำเสนอต่อต่างประเทศไปพร้อมกันได้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ