(เพิ่มเติม) CPI พ.ย.หดตัว -0.41% Core CPI ขยายตัว 0.18%,คาดปี 64 เงินเฟ้อ 0.7-1.7%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 4, 2020 12:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน พ.ย.63 อยู่ที่ 102.19 หดตัว -0.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว -0.45% และหดตัว -0.04% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.63 ขณะที่ CPI ช่วง 11 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) เฉลี่ยหดตัว -0.90%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 102.95 ขยายตัว 0.18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.01% จากเดือน ต.ค.63 ส่วน 11 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) Core CPI เฉลี่ยยังเป็นบวก 0.29%

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อยู่ที่ 106.32 ขยายตัว 1.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัว -0.23% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.63 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 99.87 หดตัว -1.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 0.07% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.63

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนธ.ค. คาดว่า จะหดตัวน้อยลง และคาดว่าทั้งปี 63 หดตัว -0.87%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย.63 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นการหดตัวในอัตราน้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับราคาฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานยังคงหดตัว แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยหดตัวน้อยสุดในรอบ 9 เดือน

นอกจากนี้ สินค้าในกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งราคาลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลลผิตข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ สำหรับสินค้าในหมวดอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับความต้องการ การส่งเสริมการขาย และปริมาณผลผลิตเป็นสำคัญ

"เงินเฟ้อเดือนนี้มีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งมาตรการด้านการท่องเที่ยว และมาตรการสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ส่งผลดีต่อทั้งผู้บริโภค และผู้ประกอบการ" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ทิศทางของเงินเฟ้อที่ดีขึ้นนี้ สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์และอุปทานในประเทศ โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัวต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ รวมทั้งปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่เครื่องชี้ด้านอุปทานมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวน้อยลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในเดือนธ.ค.63 ว่า มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนพ.ย. และคาดว่าจะยังหดตัวแต่ในอัตราที่น้อยลง โดยสาเหตุสำคัญมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันเริ่มทรงตัวและมีเสถียรภาพมากขึ้น ราคาสินค้าเกษตรและอาหารสดที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่องตามความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลายรูปแบบที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในภาพรวมเพื่อชดเชยรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด แต่ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 63 จะอยู่ที่ -0.87% ซึ่งเป็นไปตามกรอบเดิมที่ตั้งไว้ที่ -1.5 ถึง -0.7%

ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 64 สนค.คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 0.7-1.7% หรือเฉลี่ยที่ 1.2% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาขยายตัวจากปัจจัยบวกดังนี้ 1.การปรับตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ดีขึ้น โดยโครงการ "ชิมช้อปใช้" และ "คนละครึ่ง" ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า แต่เป็นการช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น 2. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก จากผลของการมีวัคซีนที่สามารถนำมาใช้ได้เร็วขึ้นภายในปีนี้ 3. แรงขับเคลื่อนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และ 4. ฐานตัวเลขที่ต่ำในปี 63

"สภาพเศรษฐกิจและการจับจ่ายของประชาชนเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น เริ่มมีการซื้อรถยนต์ มีการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศก็สอดรับกับการฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากภาคส่งออก และการค้าระหว่างประเทศ" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

อย่างไรก็ดี สนค.ยังมีความเป็นห่วงปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ไวรัสโควิดทั้งในและต่างประเทศ เพราะหากมีการกลับมาระบาดอีกรอบ จะส่งผลกระทบต่อทั้งภาคธุรกิจและประชาชนที่ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยลดลง

ทั้งนี้ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 64 มีสมมติฐานจาก อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 64 ที่ 3.4-4.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 40-50 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปีที่ 30-32 บาท/ดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ